Life insurance has several benefits, but it’s not right for everyone.

เราทุกคนต่างรู้ดีว่า ประกันชีวิต เป็นต้นทุนคงที่ที่กินสัดส่วนค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวค่อนข้างมาก เผลอ ๆ เป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่รองลงมาจากการซื้อบ้าน ที่ดิน เลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่าง หากเราจ่ายค่าเบี้ยประกันประมาณปีละ 3 หมื่นบาท หากจ่ายติดต่อกัน 30 ปี รวมเท่ากับ 9 แสนบาท ถ้าบางเเพคเกจปีละ 4 หมื่นบาทบวก ๆ จ่ายตลอด 30 ปี ยอดรวมก็ทะลุล้านไปแล้ว ประกันบางแห่งชอบทำแผนค่าใช้จ่ายมาให้เห็นภาพว่ามีจำนวนเล็กน้อยเมื่อเฉลี่ยเป็นรายเดือน แต่หากรวมเบี้ยประกันที่จ่ายไปทั้งหมดกลับพอกพูดในชั่วพริบตา

ซื้อเพื่อเก็บออม ไม่ใช่ซื้อไว้ก่อน

มีคนจำนวนมากไม่รู้ว่าหากลงทะเบียนในระบบเงินบำนาญแห่งชาติหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินบำนาญพื้นฐานหรือเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ และบางคนก็ไม่ทราบว่าประกันสุขภาพครอบคลุมการรักษาพยาบาลขั้นสูงซึ่งมีราคาแพงเกือบทั้งหมด

สิ่งสำคัญประการแรกคือ ต้องขยันรวบรวมข้อมูล นอกจากนี้ให้คิดพิจารณาว่า “จำนวนเงินเอาประกันภัยที่จำเป็นจริง ๆ คือเท่าไหร่” “ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยเท่าไหร่และเมื่อใด” เพราะหลักการของเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงคิดว่า “แค่ประกัน ซื้อไปแล้วกัน” แต่ต้องคิดว่า “เก็บเงินก่อนแล้วค่อยซื้อประกันเสริมในส่วนที่ครอบคลุมไม่หมด” คงจะดีกว่า…

Image by Freepik

ประกันชีวิตอาจไม่ต่างจากการพนัน

ทำไมกล่าวเช่นนั้น ! ประกันชีวิต เหมือนการพนันอย่างนั่นหรือ !?

ประกันชีวิต คือการจ่ายเบี้ยประกันในจำนวนที่ต้องการในช่วงเวลาที่หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับคุณ แล้วคนอื่นจะลำบาก คำถามคือแล้วช่วงเวลานั้น มันคือตอนไหน ? สำหรับคนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่าคือช่วงที่ลูกยังเด็กทำให้คู่สมรสไม่สามารถหาเวลาไปทำงานหาเงินได้มากนัก หรือกินเวลาประมาณ 20 ปี จนกว่าบุตรของคุณจะบรรลุนิติภาวะ ยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า หากคุณเป็นคนโสดก็แทบจะไม่มีความจำเป็นต้องทำประกันชีวิต เพราะไม่มีคนข้างหลังคุณที่จะต้องเดือดร้อนหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน หรือนอกจากนี้ในกรณีที่คู่สมรสก็ทำงาน คุณก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำประกันชีวิตถึงขนาดนั้นเช่นกัน

จากสถิติพบว่าเพศชายวัย 30 ปี จะมีชีวิตอยู่ถึง 60 ปี คือ 91.5% ซึ่งหมายถึงหากมีผู้ชายอายุ 30 ปี 100 คน จะมี 91 คนที่ชีวิตอยู่จนถึงอายุ 60 ปี เมื่อคิดตามมุมมองทางสถิตินี้ ความน่าจะเป็นที่จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นในช่วงที่จำเป็นต้องทำประกันจริง ๆ (จนกว่าลูกจะบรรลุนิติภาวะ) มีสูงกว่ามาก ดังนั้น โอกาสแพ้ของคุณจึงค่อนข้างมากตามไปด้วย เพราะคนทำประกันเกือบทั้งหมดจะพ่ายแพ้ เนื่องจากบริษัทประกันได้วางระบบที่จะทำให้ตัวเองได้กำไรโดยอาศัยการคำนวณความน่าจะเป็นและข้อมูลที่รวบรวมมาหลายสิบปีเหล่านี้นี่แหละ บางคนยังมีแนมโน้มที่จะเชื่อว่า “การทำประกันเป็นดังเสาหลักที่ช่วยพยุงครอบครัว” แต่ว่ารู้ไหมว่า นั่นเป็นเพียงสามัญสำนึกที่เกิดขึ้นเพราะการทำการตลาดของบริษัทประกัน

เพราะฉะนั้น จงอย่ายึดติดกับความรู้สึกทางศีลธรรมว่ามันคือ “การรักครอบครัว” หรือความคิดแบบดั่งเดิมว่า “ถ้าแต่งงานต้องทำประกัน”

ทบทวนให้ถี่ถ้วนก่อนยกเลิกสัญญาเป็นหลักประกันในการบริหารความเสี่ยง

Image by rawpixel.com on Freepik

มีบางคนบอกว่าโชคดีที่ได้ทำประกันชีวิตไว้ เพราะ “สามีเพิ่งเสียชีวิตหลังทำประกันชีวิตไปได้ 2 เดือน” นอกจากชีวิตจะมีขาขึ้น ขาลง แต่สิ่งนี้มันคือ “เรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น” ซึ่งมันอาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นก็ได้

อย่างที่ทฤษฎีว่าไว้ การบริหารความเสี่ยงคือการเตรียมความพร้อมให้สามารถรับมือกับปัญหาในยามที่มันเกิดขึ้น การทำประกันจึงเข้ามามีบทบาทตรงนี้ และหากคุณทำประกันอยู่แล้ว ลองตรวจสอบให้ดีถึงจำนวนเงินและช่วงเวลาที่จำเป็นต้องทำประกันแล้วพิจารณายกเลิกสัญญาในส่วนที่เกินความจำเป็น ซึ่งอาจจะต้องคำนึงถึงค่าครองชีพและค่าเล่าเรียนที่ต้องจ่ายจนกว่าลูกจะบรรลุนิติภาวะ ยิ่งมีลูกมากยิ่งมีภาระ อย่างไรก้ตามนี่เป็นเพียงตัวอย่างกรณีที่คู่สมรสของคุณไม่แต่งงานใหม่ เพราะหากคุณเสียชีวิตแล้วคู่สมรสมีแนวโน้มจะแต่งงานใหม่ จำนวนเงินเอาประกันภัยก็จะเปลี่ยน

สำหรับคนที่กู้ยืมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย คิดว่าปกติน่าจะทำประกันแบบเหมารวม ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประกันชีวิตเช่นกัน ดังนั้น แม้จำนวนเงินเอาประกันเมื่อแยกเป็นประเภทย่อยจะน้อยแต่ก็ยังดีที่ได้ แน่นอนว่าการตัดสินใจยกเลิกประกันอย่างไม่อาลัยอาวรณ์ก็เป็นวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณจะได้รับเงินคืน การยกเลิกสัญญากลางคันจะทำให้เงินจำนวนนั้นลดลงอย่างมาก

หากอ่านมาถึงตรงนี้ และคุณเป็นคนนึงที่มีประกันอยู่แล้ว ประการแรกอย่าเพิ่งตัดสินใจอะไรทันที ให้คุณอ่านบทความนี้ให้จบ และทบทวนดูว่าควรจะดำเนินการต่อไปดี หรือถ้าทบทวนเเล้วยังคิดว่าสิ้นเปลืองก็ค่อยยกเลิก

บางคนไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ !!!

คำพูดนี้ช่างตรงข้ามกับความรู้สึกของคนทั่วไปอย่างมาก แต่บางคนไม่จำเป็นต้องทำประกันชีวิตก็ได้จริง ๆ นะ แล้วคนแบบนั้นคือคนแบบไหนล่ะ ? นั่นคือคนประเภทที่คิดว่า “ใครมันจะไปตายง่าย ๆ กันเล่า” คนที่มีความคิดมุมมองเช่นนี้แหละ ไม่จำเป็นต้องทำประกันชีวิตก็ได้

ว่ากันว่าคนที่พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้มีชีวิตอยู่โดยไม่ใส่ใจกับเรื่องหยุมหยิมจะไม่ตายง่าย ๆ และซึ่งในทางตรงกันข้าม คนขี้กังวลจะมีอายุขัยสั้นกว่า

ความจริงคุณยายบางท่านก็ยังมีสุขภาพแข็งแรงแม้จะอายุ 90 ปีไปแล้ว โดยที่ทั้งสูบบุหรี่และรักการกินเนื้อ ดังนั้น การจัดการกับความเครียดจึงสำคัญกว่าการทำประกัน

ประกันชีวิตคือ ค่าธรรมเนียมของความสบายใจเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ “ถ้าหาก” บางคนมีความน่าจะเป็นตรงนั้นสูง ส่วนบางคนมีต่ำ ค่าธรรมเนียมจะต่างกันมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน กระนั้นก็ยากที่จะให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่า “หากเกิดเหตุการณ์เช่นเรื่องนั้นจริง ๆ ขึ้นมาจะทำยังไง ?” เพราะเหตุนี้เอง กระบวนการคิดวิเคราะห์จึงถูกตัดจบและตกลงทำประกันอย่างง่ายดาย แต่ในทางกลับกัน มีบางคนที่ตรวจเจอมะเร็งทันทีหลังจากทำประกันและได้รับเงินก้อนหลักล้าน หากมองจากมุมของคนเหล่านี้ก็จะประเมินว่า “ทำประกันไว้ดีกว่า”

Image by Freepik

คนเรามี “แนวความคิดส่วนบุคคลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้” แตกต่างกัน หรือที่เรียกว่า อัตวิสัย ซึ่งประกันถือเป็น “อัตวิสัย” เช่นกัน แต่ใน “อัตวิสัย” นั้นจำเป็นต้องมี “รากฐานของข้อมูลความจริง”

ดังนั้น น่าจะยังมีตัวเลือก “ฉันจะไม่ซื้อประกันอะไรทั้งนั้น เพราะจะใช้การออมแทน” ด้วยวิธีนี้ คุณสามารถนำเงินจำนวนนั้นไปใช้เพื่อความพึงพอใจที่มากกว่าได้ โดยไม่ต้องถูกเบี้ยประกันบีบให้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

…และนี่ก็คืออีกมุมมองหนึ่ง

Credit : เรียบเรียงบางส่วนจากหนังสือ “Talent of Money” by Tokio Godo

Cover Image : Image by jcomp on Freepik


คอร์สอบรมแนะนำ “การบริหารการจัดการ กลยุทธ์ธุรกิจ” จากฐานข้อมูลอบรมดอทคอม

คอร์สอบรมแนะนำ “จัดซื้อ การตลาด การขาย บริการ” จากฐานข้อมูลอบรมดอทคอม

คอร์สอบรมแนะนำ “การเงิน บัญชี ภาษี กฎหมาย” จากฐานข้อมูลอบรมดอทคอม

Exit mobile version