ถอดบทเรียน “ธุรกิจเจ๊ง” เช็คความเสี่ยงว่าธุรกิจคุณเข้าขั้นวิกฤตแล้วหรือยัง ? ปกติแล้วบทความส่วนใหญ่จะให้หนทางทำอย่างไรก็ได้ให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ พร้อมแนะนำเคล็ดลับต่าง ๆ มากมาย แต่ถ้าหากคุณกำลังเริ่มต้นทำธุรกิจหรือทำธุรกิจแล้วกำลังประสบกับความเสี่ยงในการทำให้ ธุรกิจเจ๊ง การศึกษาจาก case study ต่าง ๆ และรู้เท่าทันก่อนจะสายเกินไป ก็นับเป็นเรื่องสำคัญพอ ๆ กับการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ..และเพื่อให้เราได้ไปต่อ การเช็คความเสี่ยงจึงสำคัญยิ่งหนัก ! แต่หลายคนดันลืม ไม่สนใจ หรือมองข้ามไป จึงไม่ได้เตรียมความพร้อมเมื่อเกิดความเสี่ยงที่ธุรกิจจะเจ๊งขึ้น แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มักจะเกิดจากสัญญาณเล็ก ๆ จนลุกลามใหญ่โต กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็แก้ไขปัญหาไม่ได้แล้ว ดังนั้นนี่คือเช็กลิสต์สำคัญที่ทุกคนไม่ควรพลาด !!!
เช็คความเสี่ยงกันก่อน.. ธุรกิจเจ๊ง เกิดจากอะไร ?
ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าเหตุผลของธุรกิจส่วนใหญ่ที่มักจะเจ๊งกันคืออะไร และธุรกิจของคุณอยู่ในความเสี่ยงเหล่านี้หรือไม่ ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกตะคิดตะควงใจ มาตามเช็กลิสต์ไปพร้อม ๆ กัน และหาทางแก้ไขด้วยไปในตัว โดย 7 เหตุผลยอดฮิตที่คนส่วนใหญ่ทำธุรกิจเจ๊ง มีดังนี้
1. สร้างฐานธุรกิจไม่แข็งแรงตั้งแต่ต้น
ในการเริ่มต้นทำธุรกิจมักจะเริ่มด้วยตัวคุณคนเดียวหรือกลุ่มคนไม่กี่คน ที่จำเป็นจะต้องแบ่งหน้าที่ต่าง ๆ ให้เสร็จสรรพ ซึ่งแน่นอนว่าหน้าที่ในหลาย ๆ อย่างอาจไม่ใช่สิ่งที่ถนัด เลยมักจะทำแบบพอผ่าน หรือไม่ทำระบบการทำงานให้ชัดเจน หรือมีสโคปการทำงานที่ไม่แน่ชัด จะทำให้ระบบการทำงานล่มตั้งแต่เริ่มหรือในสักวันนึง ทางที่ดีเราเอาปัญหามากางและอุดรอยรั่ว และสร้างฐานให้มั่นคงตั้งแต่แรกจะเป็นการดีที่สุด
2. ขาดการศึกษาความต้องการของตลาด
การทำธุรกิจทุกชนิดจำเป็นจะต้องศึกษาความต้องการของตลาด มากกว่าทำแบบตามใจฉัน ซึ่งการทำแบบตามใจฉันไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า ดังนั้นการศึกษาตลาดจำเป็นที่จะต้องสามารถระบุได้ว่าลูกค้าของเราคือใคร ช่วงอายุเท่าไหร่ มีไลฟ์สไตล์แบบไหน ยิ่งลึกเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ถ้าหากเลือกทำแบบตามใจฉัน สักวัน ธุรกิจเจ๊งสูงมาก เพราะความชอบของเราไม่ใช่ความชอบของทุกคน
3. ขาดความชัดเจนในธุรกิจที่ทำ
ในการทำธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ว่าเราทำธุรกิจอะไร โดยการทำธุรกิจภายใต้ชื่อแบรนด์เดียวกัน ควรให้สินค้าหรือบริการไปในทิศทางเดียวกัน แน่ชัดในสินค้าและบริการที่จะขายคืออะไร จะขายเพื่ออะไร และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ซื้อได้อย่างไรบ้าง ยิ่งสร้างแบรนด์ดิ้งรวมไปถึงคาแรคเตอร์แบรนด์ลงไปด้วย ยิ่งสามารถเพิ่มความชัดเจน ให้กลุ่มลูกค้ารู้จักคุณได้มากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยขายของได้ง่ายยิ่งขึ้น
4. บริหารจัดการธุรกิจไม่เป็น
ธุรกิจที่สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้แบบไม่มีสะดุด ตัวเจ้าของหรือผู้ที่ต้องดูแลฝ่ายต่าง ๆ จะต้องรู้จักการบริหารจัดการทุก ๆ อย่างให้เป็นระบบ เพราะถ้าหากไม่เป็นมีโอกาสสูงที่ ธุรกิจเจ๊ง ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วในการบริหารจะมีในเรื่องของการบริหารเงิน การบริหารสินค้าหรือบริการ บริหารคน บริหารเวลา และอื่น ๆ อีกมากมาย แนะนำว่าการเลือกคนที่ทำงานด้านนั้นมาเป็นจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
5. เลือกทำเลหรือช่องทางการขายที่ไม่ดี
ตัวชี้ขาดว่า ธุรกิจเจ๊งหรือไม่เจ๊ง นั่นก็คือทำเลหรือช่องทางการขายไม่ดี เพราะต่อให้สินค้าและบริการของคุณดี คุณสามารถบริหารจัดการภายในร้านได้อย่างยอดเยี่ยม แต่หาแหล่งในการปล่อยสินค้าและบริการของคุณไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายหรือปล่อยผิดที่ผิดทาง ก็ทำให้ธุรกิจของคุณล้มระเนระนาดได้ทุกเมื่อ ดังนั้นการเลือกทำเลที่คนผ่านไป ผ่านมาเยอะ ๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ในส่วนช่องทางออนไลน์ก็ต้องมีหลาย ๆ ช่องทาง เพื่อกระจายการรับรู้ให้ได้มากที่สุด
6. ทำบัญชีแบบผิด ๆ เงินขาดสภาพความคล่อง
ต้องบอกเลยว่าใครหลายคนที่ตั้งใจทำธุรกิจหรืออยากเป็นเจ้าของกิจการ จะมีความรู้ในเรื่องของการทำบัญชีหรือการบริหารการเงินที่น้อยมาก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญแนะนำว่าให้ศึกษาวิธีการทำบัญชีธุรกิจ การแบ่งเงินเข้าร้าน เงินเดือนของตัวเอง เงินเก็บเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนภายในร้าน รวมทั้งเงินสำรองต่าง ๆ เมื่อยามธุรกิจติดขัด ก็จะได้มีเงินที่เก็บเข้าช่วย แทนที่จะไปกู้ยืมเพื่อสร้างหนี้
7. ไม่กำหนดตัวชี้วัดของธุรกิจ
ในการทำธุรกิจทุกครั้งจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ของธุรกิจอยู่เสมอ ๆ ซึ่งการจะประเมินได้เราต้องกำหนดตัวชี้วัดขึ้นมาก่อน ว่าตัวชี้วัดนั้นสามารถประเมินเป็นรูปธรรมหรือเป็นตัวเลขได้อย่างไรบ้าง เมื่อนำมาประเมินหากเห็นอันไหนไม่อยู่ในเกณฑ์ก็แก้โดยทันที ก็จะสามารถลดความเสี่ยง ธุรกิจเจ๊ง ได้ โดยแนะนำว่าให้กำหนดว่าจะประเมินทุก ๆ สัปดาห์ หรือจะประเมินทุก ๆ เดือน เป็นต้น
อย่าปล่อยให้ธุรกิจมีความเสี่ยง เพราะอาจเจ๊งได้ไม่รู้ตัว
ถ้าหากใครอ่านมาถึงตรงนี้พบว่ามีความเสี่ยงธุรกิจเจ๊ง ต้องบอกเลยว่าห้ามปล่อยเบลอเป็นอันขาด ต้องรีบหาทางแก้โดยด่วน เพราะไม่เช่นนั้นธุรกิจอาจจะเจ๊งแบบกู่ไม่กลับก็เป็นได้ แนะนำว่าในจุดนี้การหาแนวคิดในการแก้ไขปัญหาควรถามหลาย ๆ คน เพื่อนำมาคิด วิเคราะห์ ปรับปรุง เพื่อที่ให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ โดยที่ต้องใส่ใจที่สุดก็คือความต้องการของลูกค้านั่นเอง เพราะถ้าหากตอบโจทย์ลูกค้าได้ก็สามารถรันได้แบบยิงยาว ๆ
Cover Image : Image by freepik