สวัสดีปีใหม่ ปีที่ใครหลายคนตั้งเป้าว่าต้องเป็นปีแห่งการหันมาใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้น และหากคุณเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น เมื่อดูแลสุขภาพกายแล้ว ต้องห้ามพลาดที่จะหันมาดูแลสุขภาพใจด้วย ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมานี้จะเห็นได้ว่าคนในสังคมทั้งวัยรุ่นและวัยทำงานเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ “Mental Health” กันมากยิ่งขึ้น หรือให้ความสำคัญต่อการหมั่นสังเกตสุขภาพจิตของตนเองเป็นระยะ ๆ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้คนในสังคมทุกกลุ่มได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนอกเหนืออาการบาดเจ็บทางกายภายนอกที่เราสังเกตได้ด้วยตาเปล่า เพราะหากเราพบว่าสุขภาพจิตของเราต้องการการดูแลรักษา นั่นก็ไม่ต่างจากการบาดเจ็บเป็นแผลที่สุขภาพกาย แต่กลับกันที่นี่คือแผลที่จิตใจ อยู่ภายใน ซึ่งมีเพียงผู้ป่วยเท่านั้นที่จะสังเกตตัวเองได้ และเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาวอย่างคาดไม่ถึง อย่างที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เมื่อจิตใจหดหู่ห่อเหี่ยว ก็จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่แสดงออกแบบแปลกแยก เช่น มีความเครียดความกดดันมากกว่าปกติจนไม่สามารถคุมอารมณ์ตัวเอง มีความคิดทำร้ายร่างกายตัวเองหรือคนรอบข้าง เป็นต้น

Image by Freepik

มาสังเกตสุขภาพใจกัน แบบไหนต้องพบจิตแพทย์

หากเราเริ่มสังเกตสุขภาพจิตหรือ Mental Health ของเรา แล้วพบว่าตัวเองมีพฤติกรรม 7 รูปแบบนี้ ก็เป็นสัญญาณเตือนให้คุณต้องหันกลับมาใส่ใจสุขภาพจิตใจของตัวเองให้มากกว่าปกติ หรือพบนักบำบัด นักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อรับการช่วยเหลือ หรือเพื่อความชัวร์แนะนำว่าให้พบกับจิตแพทย์ก่อนก็ได้เหมือนกัน ทีนี้มาดูกันดีกว่าว่า 7 พฤติกรรมที่เป็นสัญญาณเตือนมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. รู้สึกว่าอารมณ์แปรปรวน ดีได้ชั่วครู่ก็กลับมาหดหู่แบบไร้สาเหตุ

สังเกตสุขภาพจิตในเรื่องของอารมณ์และรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเรารู้ตัวว่ากำลังรู้สึกมีความสุข โกรธ ผิดหวัง เศร้า หรือเสียใจ โดยเข้าใจว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้คืออะไรก็เท่ากับว่าเราสามารถควบคุมอารมณ์และความรู้สึกตัวเองได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ตามอารมณ์ตัวเองไม่ทัน ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงรู้สึกเศร้า หดหู่ ท้อแท้หรือวิตกกังวล อาจเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับสภาวะทางจิตที่ไม่มั่นคงได้ ถ้าหากเป็นแล้วหาสาเหตุไม่เจอบ่อยๆ แนะนำว่าพบแพทย์จะเป็นการดีที่สุด

2. มีทัศนคติด้านลบในการใช้ชีวิต

บนโลกนี้มีทั้งเรื่องดีและร้ายสลับกันไป ไม่มีใครที่มีความสุขทุกวันเช่นกันกับความทุกข์ที่จะอยู่กับเราแล้วก็ผ่านไป แต่ถ้าหากใครมีความรู้สึกว่าโลกนี้มีแต่ความทุกข์และน่าเสียใจ มองไม่เห็นแสงสว่างที่จะเข้ามาในชีวิตได้อีกต่อไป ขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งสภาวะที่บ่งบอกได้ว่าสุขภาพจิตของคุณต้องการได้รับการดูแลที่มากขึ้นกว่าปกติแล้วในตอนนี้ โดยสังเกตได้เลยว่าหากเป็นต่อเนื่อง 2 สัปดาห์จำเป็นที่จะต้องพบจิตแพทย์โดยเร็ว

3. มีความคิดทำร้ายตัวเอง

คนที่รักตัวเองและมีความนับถือตัวเองมากพอจะไม่มีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองหรือทำให้ตัวเองเจ็บปวด เมื่อใดก็ตามที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง อยากทำให้ตัวเองรู้สึกเจ็บเพราะคิดว่าเป็นวิธีในการระบายอารมณ์ ระบายความเครียด นั้นถือเป็นพฤติกรรมอันตราย ถึงแม้จะเป็นอารมณ์ชั่ววูบแต่ก็เป็นสัญญาณเตือนสำคัญว่าตัวคุณกำลังตกอยู่ในสภาวะ Low Self-esteem จนอาจขาดความยับยั้งชั่งใจได้ ดังนั้นหมั่น สังเกตสุขภาพจิตว่ามีในเรื่องนี้หรือไม่ ถ้าหากมีก็รีบไปพบจิตแพทย์ได้เลย ก่อนที่ความคิดจะแย่ลงมากเรื่อย ๆ

Image by Freepik

4. ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวมีปัญหา

คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตจะมีการสื่อสารที่ผิดพลาดจากความเครียดความกังวล เมื่อต้องสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอาจเผลอใช้อารมณ์นำเหตุผลจนเกิดปัญหาความสัมพันธ์ ลองสังเกตตัวเองดูว่าเพื่อนสนิทของคุณเริ่มห่างหายไป คุณตามข่าวในสังคมรอบตัวไม่ทัน หรือเคยได้รับคำเตือนจากคนรอบตัวว่าเรากำลังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหรือไม่ สามารถให้คนรอบตัว สังเกตสุขภาพจิตกันได้ และถ้าหากยิ่งส่งผลกระทบต่องาน ก็ต้องรีบพบจิตแพทย์โดยด่วน เพราะเท่ากับว่ากระทบทั้งความสัมพันธ์และงานแล้วนั่นเอง

5. ขาดสมาธิ ไม่สามารถโฟกัสการเรียน การงานได้

เพราะความเครียด ความวิตกกังวล หรือการคาดหวังในเหตุการณ์ในอนาคตที่มากเกินไปมักทำให้จิตใจไม่อยู่กับปัจจุบัน คนที่มีภาวะไม่ปกติทางอารมณ์มักจะเหม่อลอยบ่อยครั้ง จนส่งผลต่อการเรียนและการทำงาน สมองตื้อ ไม่สามารถคิดวิเคราะห์เรื่องราวได้เหมือนปกติ

6. มีปัญหาด้านการนอนหลับ

ปัญหาเกี่ยวกับการนอนเป็นสัญญาณอันตรายหลากหลายโรค นอกจากอาการเจ็บป่วยทางกายแล้วอาการนอนไม่หลับยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาทางด้านจิตใจที่แสดงออกมาในรูปแบบของระบบประสาทและสมองที่ทำงานผิดปกติ ดังนั้นเมื่อ สังเกตสุขภาพจิตแล้วมีอาการเครียดผิดปกติ ซึมเศร้า นอนไม่หลับต่อเนื่องหรือมีพฤติกรรมการนอนหลับที่เปลี่ยนไป ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันที

7. เจ็บป่วยบ่อยครั้ง

อาการเจ็บป่วยทางจิตใจสามารถแสดงออกผ่านอาการทางกายได้ เพราะร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อกัน เมื่อเรารู้สึกห่อเหี่ยว ขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต เครียด หรือวิตกกังวล ร่างกายก็จะแสดงออกผ่านความเจ็บป่วยภายนอกด้วย เช่น อาการปวดหัวเรื้อรัง ปวดท้องจากภาวะเครียดลงกระเพาะ หรือท้องอืดท้องเฟ้อ อาเจียน เป็นต้น

Image by Drazen Zigic on Freepik

สัญญาณเตือนเฝ้าระวัง หากพบว่ามีต้องรีบพบจิตแพทย์

อาการเหล่านี้ก็เป็นเหมือนสัญญาณเตือนจากภายในร่างกายของเราว่าตอนนี้สุขภาพใจเราอาจกำลังต้องการการดูแลเพิ่มขึ้น อย่าละเลยหรือมองข้ามปัญหาด้วยคำว่า “คงไม่เป็นไร” เพราะสุขภาพจิตใจของเรามีค่ามากกว่าสิ่งอื่น เมื่อสังเกตสุขภาพจิตและเกิดปัญหาความเครียด วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับต่อเนื่อง ไม่สามารถควบคุมความคิดหรืออารมณ์ได้ การเข้าปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวางแนวทางการรักษาร่วมกันจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมมากที่สุด เพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิตใจให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

Cover Image : Image by rawpixel.com on Freepik


คอร์สอบรมแนะนำจาก อบรมดอทคอม

Exit mobile version