ถ้าเราบอกเคล็ดลับว่า เพียงแค่เพื่อน ๆ รู้วิธีการ หายใจ อย่างถูกวิธี ก็จะพบว่าตัวเองมีสุขภาพดีขึ้น และมีศักยภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว…เพื่อน ๆ จะเชื่อหรือไม่ ?

การหายใจของมนุษย์เป็น “ศิลปะ” การหายใจที่สิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์เรียนรู้มาตั้งแต่เกิดเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง และมันเป็นศิลปะเชิงวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เพราะมันเป็นมากกว่าการหายใจเอาอากาศเข้าและหายใจเอาอากาศออก

Image by kjpargeter on Freepik

การหายใจไม่ใช่แค่สูดออกซิเจนเข้าปอด

จูนความเข้าใจกันก่อนว่าร่างกายของมนุษย์ประกอบขึ้นจากเซลล์นับพันล้านที่เกิดจากการหายใจเป็นพื้นฐาน การหายใจเป็นจุดกำเนิดลูกโซ่ของชีวกายภาพทั้งหมด สิ่งมีชีวิตทุกสรรพสิ่งดำรงค์อยู่ได้เพราะหายใจและสูญสลายไปเมื่อหยุดหายใจ ออกซิเจนที่ได้เพิ่มมากขึ้นในกระแสเลือดของเรากระตุ้นระบบขับถ่าย อันเป็นการชำระล้างพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายออกไป ออกซิเจนที่เพิ่มพิเศษขึ้นมาในสมอง ให้พลังงานเพิ่มเติมและความมีชีวิตชีวาแก่เรา ทั้งการหายใจในระหว่างการทำสมาธิลึก ๆ ก็เป็นเครื่องเตือนใจต่อร่างกายของเราว่า ทั้งหมดอยู่ในความควบคุม

การหายใจจึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สุขภาพของเราดีเสมอมา แบบที่เพื่อน ๆ บางคนอาจจะไม่เคยรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ซึ่งพอเรามีอายุมากขึ้น การหายใจกลายเป็นวิทยาศาสตร์น้อยลงเรื่อย ๆ และกลายเป็นการหายใจตื้น ๆ และเราก็เริ่มหายใจเข้าไปในปอด แทนที่จะให้ลึกถึงท้อง

ผู้ใหญ่อย่างเรา หายใจ ผิดวิธีมาตลอด

เอ๊ะ ! หายใจก็คือหายใจเข้าและหายใจออก แค่นั่นนี่ !? มีถูกหรือผิดด้วยหรอ ? เราเชื่อว่าเพื่อน ๆ ไม่เคยรู้มาก่อนแน่ ๆ เราจึงอยากให้เพื่อน ๆ ลองสังเกตการหายใจของเด็กทารก เข้า ออก ลึก และแม้กระทั้ง ช้า ง่าย และสงบ หากใครมีลูกมีหลานลองสังเกตให้ใกล้ชิดมากขึ้น จะเห็นเลยว่าหน้าอกไม่ได้ยกสูงขึ้นและต่ำลง แต่เป็น “ท้อง” ที่ยุบ ๆ พอง ๆ มาถึงตรงนี้บางคนคงร้องอ๋อ เพราะนั่นคือกระบังลม ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อระหว่างทรวงอกและช่องท้อง ที่เป็นตัวเคลื่อนไหว

คราวนี้เราลองมาเปรียบเทียบกับวิธีการหายใจของพวกผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ กันบ้าง ซึ่งสิ่งที่พบก็คือ มันแตกต่างออกไปจากเด็กทารกอย่างแน่นอน เพราะพวกเราส่วนใหญ่ หน้าอกช่วงบนจะขยายออกขณะหายใจเข้า แล้วก็บีบรัดขณะหายใจออก และเมื่ออายุมากขึ้น เรามักจะได้เรียนรู้ที่จะเก็บพุงให้เล็กลงโดยไม่รู้ตัว

ปัญหาคือสิ่งนี้ได้กลายเป็นเรื่องปกติของคนส่วนใหญ่ เวลาผ่านไป ชีวิตที่อยู่ในเมืองแออัด มีปัญหามลภาวะเรื้อรังและขาดอากาศบริสุทธิ์ ก็เลยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยตั้งแต่เด็กจนโต จากการหายใจเข้ากระบังลม หรือการหายใจเข้าท้อง ไปสู่การหายใจเข้าปอดแทน

การเลื่อนตำแหน่งของการหายใจรูปแบบนี้ ไม่ใช่ลักษณะทางธรรมชาติของผู้ที่สูงอายุขึ้น สิ่งนี้ถือเป็นนิสัยผิด ๆ แต่ถ้าเพื่อน ๆ พยายามทำลายนิสัยนี้ แล้วกลับไปสู่วิธีการหายใจเหมือนเด็กทารก เราก็จะสามารถช่วยกำจัดอาการปวดหัวหรือเหนื่อยล้าที่เราประสบอยู่เป็นประจำได้ มากไปกว่านั้นอีก การนำเทคนิตการหายใจที่ถูกต้องมาใช้ จะช่วยขจัดความเครียดออกไปได้ ทำให้ความดันเลือดต่ำลง เสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจ พูดตรง ๆ คือ ช่วยให้สุขภาพดี ยืดอายุเราให้ยืนยาวจากการสึกหรอของร่างกาย

Image by jcomp on Freepik

อาการโรคร้ายที่เกี่ยวข้องจากความเครียด ไม่ว่าจะเป็นโรคทางกาย ทางความคิด หรือทางอารมณ์ อาจมีสาเหตุมาจากการหายใจที่ไม่ถูกต้อง และเราสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้กลไกการหายใจเชิงวิทยาศาสตร์เข้ามาแทน

Dr. Phil Nuernberger, a PhD in psychology ผู้เขียนหนังสือ อิสระจากความเครียด

7 ขั้นตอนง่าย ๆ เริ่มฝึกไปด้วยกัน !

การฝึกหายใจ นอกจากประโยชน์ด้านสุขภาพแล้ว การหายใจลึก ๆ เอาออกซิเจนเข้าท้อง ยังมีผลให้เพื่อน ๆ รู้สึกดีขึ้นมาก ๆ แถมช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ทำให้จำอะไรได้ดี แก้อาการขี้ลืม และทำให้อารมณ์ที่รุนแรงสงบลงได้ สำคัญว่าอยากให้เพื่อน ๆ ที่อยากมีสุขภาพดีและเคร่งเครียดกับการทำงานมาลองทำไปด้วยกัน

  1. สำหรับเพื่อน ๆ ที่เพิ่งเริ่มฝึก เริ่มต้นง่าย ๆ โดยให้หาสถานที่ที่สะอาด เงียบสงบ อาจเป็นห้องทำงาน หรือห้องนอน
  2. ยืนหรือนั่งก็ได้ ในท่าทางที่สบาย ๆ แต่สำคัญว่าต้องอยู่ในท่าที่หลังตรง เรื่องของเสื้อผ้าก็สำคัญ ควรเป็นชุดที่สวมใส่สบาย
  3. ใช้มือข้างที่ถนัดวางมือลงบนท้อง ถ้าต้องการใช้สองมือก็ทำได้ ไม่มีปัญหา เอาท่าทางที่เพื่อน ๆ สบายที่สุด
  4. อย่าลืมนั่งหลังตรง ! และหายใจเข้าผ่านจมูก นับในใจ 1…2 อย่างช้า ๆ จังหวะนี้มือที่กุมอยู่ที่ท้องจะให้ความรู้สึกว่าลมเข้ามาเติมเต็มที่ท้องแล้วขยายออก
  5. กลั้นใจ นับ 1…2…3…4 ในจังหวะการนับที่สัมพันธ์กันกับการหายใจเข้า
  6. หายใจออกทางปากเบา ๆ แล้วนับ 1…2…3…4…5…6 ให้พอดีกับลมที่หายใจออกจนสุด จังหวะนี้มือที่กุมอยู่ที่ท้องจะให้ความรู้สึกว่าท้องค่อย ๆ ยุบลง
  7. ทำซ้ำสิบครั้ง สามครั้งต่อวัน
Image by Freepik

Trick: สำหรับใครที่ได้ลองทำตามแล้วเป็นครั้งแรก มักเจอว่าการนับเลขและการควบคุมจังหวะหายใจเข้าออกอาจจะยังไม่สัมพันธ์กันดีนัก แนะนำให้เพื่อน ๆ หลับตาขณะทำแต่ละขั้นตอน และทำไปสักพักจะเริ่มจับจังหวะของตัวเองได้

อดทนมีวินัย ทำต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ แล้วเพื่อน ๆ ลองรีวิวตัวเองดูว่า สภาพร่างกาย จิตใจ ความนึกคิด ความปลอดโปร่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวมันมีอยู่จริง และเราได้รู้สึกถึงมันแล้วใช่หรือไม่ ?

แต่อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องขอบอกว่า ดีใจด้วยนะ เพื่อน ๆ กำลังจะมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้นแล้วล่ะ !

Credit : เรียบเรียงจากบางส่วนของหนังสือ “วิธีฝึกสมองให้รวบเร็ว” by อภิชาติ ทองเกรียงไกร

Cover Image : Image by valeria_aksakova on Freepik


คอร์สอบรมแนะนำ “การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน” จากฐานข้อมูลอบรมดอทคอม

คอร์สอบรมแนะนำ “การพัฒนาตนเอง” จากฐานข้อมูลอบรมดอทคอม

Exit mobile version