เพื่อน ๆ รู้หรือไม่ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขบอกไว้ว่าประชากรในบ้านเรา กลุ่มคนไทยวัยสร้างตัวที่เฉลี่ยอายุ 34 ถึง 35 ปีขึ้นไป ประสบปัญหาโรคเมตาบอลิกซินโดรมมากขึ้นทุกปี ๆ หรือที่พวกเราเรียกกันติดปากว่า “อ้วนลงพุง” ฟังดูเผิน ๆ อาจคิดว่า อ้วนลงพุง ก็แค่พุงใหญ่ขึ้น ร่างกายเปลี่ยนไปแค่นั้นหรือเปล่า ? คำตอบคือ เปล่าเลย ! และไม่ใกล้เคียงด้วยซ้ำ การอ้วนลงพุงเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคเบาหวาน แถมโปรโมชั่นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก ซื้อหนึ่งแถมสอง

ไม่ได้ขู่ เราเป็นห่วงทุกคน ถ้าไม่ดูแลสุขภาพและป้องกันโรคอ้วนลงพุงเสียแต่ตอนนี้ อาจบานปลายในอนาคต

สังเกตตัวเองกันก่อน.. อ้วนลงพุง หรือยัง ?!

โรคเมตาบอลิกซินโดรมหรืออ้วนลงพุง จะมีอาการร่วมกัน 3 จาก 5 ในรายการดังต่อไปนี้

  1. อ้วนเกิน สังเกตได้ในผู้ชายที่มีขนาดรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว และ 32 นิ้วสำหรับหญิง
  2. ความดันโลหิตสูง ภาวะปกติต้องวัดได้สูงกว่า 130/85 mm Hg หรือกินยาลดความดันฯ อยู่
  3. น้ำตาลในเลือดสูง วัดได้ตั้งแต่ 100-110 mg/dl ขึ้นไป ซึ่งส่อได้ว่าเป็นภาวะต้านอินซูลิน
  4. ไตรกลีเซอไรด์สูง ตั้งแต่ 150 mg/dl ขึ้นไป
  5. โคเลสเตอรอลดี เอชดีแอลต่ำ น้อยกว่า 40 mg/dl ในผู้ชาย และ ผู้หญิงอยู่ที่ 50 mg/dl

ข้อ (1) สำคัญมาก และขอเน้นย้ำให้เพื่อน ๆ ทดสอบข้อนี้เป็นอย่างแรก และต้องวัดที่ “รอบเอว” ไม่ใช่สะโพก เหตุผลที่ข้อนี้สำคัญเพราะใครที่ตกอยู่ในกลุ่มข้อแรกนี้ จะถือว่าอยู่ในกลุ่มคนอ้วน และคนอ้วนมีแนวโน้มจะมีน้ำตาลในเลือด (ข้อ 3) ไตรกลีเซอไรด์ (ข้อ 4) และโคเลสเตอรอลสูง (ข้อ 5)

หากเพื่อน ๆ อยู่ในกลุ่มวัยกลางคน วัยรุ่นสร้างตัวอายุเฉลี่ย 34 ถึง 35 ปีขึ้นไป มาถึงตรงนี้ รีบจดข้อมูลไว้ก่อนไปตรวจสุขภาพ หรือใครตรวจมาแล้ว ลองเอาสมุดรายงานผลตรวจมาเทียบดูได้เลย

Image by tirachardz on Freepik

ภัยร้ายที่ต้องตระหนัก

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนในเบื้องต้นว่า โรคเมตาบอลิกซินโดรม หรือ อ้วนลงพุงนี้มีความเกี่ยวข้องกับกลูโคสเมตาบอลิซึ่ม หรือพูดง่าย ๆ ว่าเกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญกลูโคสของเซลล์กล้ามเนื้อในร่างกาย ซึ่งเกิดจากการกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและน้่ำตาลมากจนเกินไป กินเยอะจนร่างกายย้อยไม่ทัน หรือสำหรับเพื่อน ๆ ที่ชอบทำงานถึงดึก ๆ การกินอาหารผิดเวลา หรือกินขนม กินมาม่าตอนดึก ๆ นี่แหละคือตัวการสำคัญ เพราะมันทำให้กลูโคสในเลือดสูง หากสะสมไปนาน ๆ เข้า อาจทำให้เซลล์มีภาวะต้านอินซูลิน* ซึ่งอ่านมาถึงตัวนี้แล้วจะเห็นว่านั่นเป็นจุดสังเกตในรายการข้อ 3 ที่ระบุไว้ว่า หากน้ำตาลในเลือดสูง วัดได้ตั้งแต่ 100-110 mg/dl อาจทำให้มีภาวะต้านอินซูลิน

อินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่สร้างจากตับอ่อน ทำหน้าที่กระตุ้นให้อวัยวะต่าง ๆ นำพลังงานที่ได้รับจากอาหารไปใช้ กระบวนการจะเริ่มจากเมื่อร่างกายได้รับอาหาร ระบบทางเดินอาหารจะย่อยคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ น้ำตาลและแป้งที่อยู่ในอาหารให้เป็นน้ำตาลกลูโคส โดยกลูโคสคือน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือด และ อินซูลินจะทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายสามารถนำกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานได้

แล้วไอเจ้าภาวะต้านอินซูลินล่ะ มันคืออะไร ? ขยายความอีกนิด…

ภาวะต้านอินซูลินจึงเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะที่เกิดจากการกินอาหารพวกแป้งและน้ำตาลมากเกินไป เป็นสาเหตุหลัก และหากร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอต่อการแก้ปัญหานี้ ก็จะทำให้เป็นเบาหวานในที่สุด และเผลอ ๆ ได้ของแถมเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โดยที่เราไม่ได้ต้องการเลยแม้แต่น้อย

อ่านหน้าที่ของอินซูลินเพิ่มเติมได้ ที่นี่

แนวทางดูแลป้องกัน

ตามที่ได้เล่าไป ถ้าปล่อยให้ตัวเองอ้วนลงพุง อนาคตที่ค่อนข้างแน่นอนคือต้องเจอกับโรคเบาหวาน แต่อย่างไรก็ตามทางการแพทย์พบว่าจริง ๆ แล้วอาจทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้ก่อน แม้ว่าเบาหวานจะยังไม่ได้ถูกตรวจพบเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นการหันมาดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคอ้วนลงพุงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถือว่าเป็นปราการชั้นต้นของการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ การปรับเปลี่ยนอาหารการกินเพื่อลดน้ำหนักตัว จึงเป็นวิธีการรักษาโรคนี้ที่สำคัญที่สุด ฟังดูง่ายแต่ยากมาก

อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่จะเป็นคนอ้วนมาก่อน แต่คนผอมก็มีปัญหาภาวะต้านอินซูลินและเบาหวานได้เช่นกัน ! ดังนั้น เพื่อน ๆ อย่าเพิ่งวางใจหากวัดรอบเอวแล้วพบว่าตัวเองยังผอมอยู่ เพราะโรคนี้เกิดจากอาหารการกินและวิถีดำเนินชีวิต การป้องกันและรักษาที่ได้ผลจึงต้องปรับเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรม ฟันธงเลยว่าการป้องกันหรือรักษาโรคนี้เราต้องพึ่งตัวเองเป็นหลัก จะอาศัยการรักษาของแพทย์อย่างเดียวไม่ได้

Image by 8photo on Freepik

โดยแนวทางการกินเพื่อต้านโรคอ้วนลงพุงนี้มีหลักสำคัญเป็น Low Carb Diet คือกินคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลให้น้อย ๆ ควรหลีกเลี่ยงอาหารจากแป้งขัดขาว (ข้าวขาว ขนมปังฟอกขาว ขนมจีน ซาลาเปา หรือแม้แต่เส้นก๋วยเตี๋ยว) กินได้เฉพาะอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน คืออาหารพวกแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช ขนมปังโฮลวีต เพื่อเป็นการควบคุมระดับกลูโคสน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูง ซึ่งไอเจ้าแนวทาง Low Carb Diet นั้น เพื่อน ๆ สามารถกินโปรตีนและไขมันได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงเนื้อวัวและหมูที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งมีผลกระทบกับโคเลสเตอรอลร้าย เอชดีแอล และโรคหลอดเลือดหัวใจ แนะนำให้กินโปรตีนจากเนื้อปลาแทน และนอกจากกินควบคุมการกินแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ การออกกำลงกายช่วยบำรุงเซลล์กล้ามเนื้อให้แข็งแรงและเปิดรับกลูโคสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันนี้ หากวัยรุ่นสร้างตัวชาวไทยทุกท่านได้อ่านบทความนี้แล้ว แล้วพบว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มโรคอ้วนลงพุง ต้องหยุดพิจารณาหาทางป้องกันได้แล้ว ก่อนที่จะสายเกินนะ !

Image by tirachardz on Freepik

Credit : เรียบเรียงจากบางส่วนของหนังสือ “ต้านโรคด้วยอาหารการกิน” by ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์

Cover Image : Image by jcomp on Freepik


คอร์สอบรมแนะนำ “การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน” จากฐานข้อมูลอบรมดอทคอม

คอร์สอบรมแนะนำ “การพัฒนาตนเอง” จากฐานข้อมูลอบรมดอทคอม

Exit mobile version