คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมพอเรา “โตขึ้น” ถึงมีอะไรติดขัดตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน เรื่องการเงิน เรื่องความรัก เรื่องครอบครัว ที่ดูยังไง ๆ ก็เหมือนวนลูป และจบเหตุการณ์เหล่านั้นแบบเดิม ๆ หรือไม่ก็ผิดหวัง ช้ำใจอยู่บ่อย ๆ จนคิดเสียว่าคุณไม่เคยมีโชคทางด้านนี้หรือเปล่า และคุณรู้หรือไม่ ?!.. สิ่งเหล่านั้นที่เกิดขึ้นกับคุณในทุก ๆ ช่วงชีวิต อาจเกิดจาก ทรอม่า หรือ บาดแผลทางใจ ตั้งแต่ในวัยเด็กที่ส่งผลมายังปัจจุบันก็เป็นได้
หากคุณสงสัยว่าตัวเองจะเป็นหนึ่งในนั้น.. งั้นเรามาลองไปพร้อม ๆ กัน เพื่อย้อนอดีตในวัยเด็กและทำความเข้าใจกับมันกันดีกว่า
บาดแผลที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวในวัยเด็ก
ก่อนอื่นทุกคนต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทรอม่า หรือ บาดแผลทางใจ มักจะเกิดขึ้นตอนวัยเด็กที่ผ่านประสบการณ์หรือเหตุการณ์อันเลวร้ายและกระทบกระทั่งจิตใจจนเกิด “แผลที่อยู่ในใจ” โดยเหตุการณ์ที่ว่านั้นอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว แต่ก็ยังคงติดตาหรือติดในใจเสมอ หรืออาจจะเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำ ๆ กลายเป็นปมปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ออกไปได้ สิ่งเหล่านี้เด็กส่วนใหญ่จะไม่รู้ ว่าเหตุการณ์ที่ได้พบ สิ่งที่ได้รับมาดีหรือไม่ดี หรือส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างไร โดยบาดแผลที่ว่าสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้
- การสูญเสียบุคคลสำคัญในชีวิตที่ส่งผลต่อทางด้านจิตใจเป็นอย่างมาก
- การได้รับความอบอุ่นอย่างเต็มที่ แต่จู่ ๆ สิ่งเหล่านั้นไม่มีทำให้เด็กรู้สึกขาด
- การประสบอุบัติเหตุ หรืออยู่ในประสบการณ์เสี่ยงตาย หรือการล่วงละเมิดทางเพศ
- การถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากคนใกล้ชิดหรือคนแปลกหน้า
- การถูกเพื่อนรังแก โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ปล่อยทิ้งให้อยู่คนเดียว
- พ่อและแม่ หรือคนในครอบครัวแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความก้าวร้าว การทะเลาะเบาะแว้ง และการใช้กำลัง
- การเติบโตในสภาพแวดล้อมที่โดดเดี่ยว ขาดการดูแลเอาใจใส่ ขาดความรัก และขาดการยอมรับ
ทำไม ทรอม่า ส่งผลต่อการใช้ชีวิตตอนโต
ใครหลายคนอาจจะสงสัยว่าบาดแผลในวัยเด็ก ทำไมส่งผลต่อชีวิตตอนโต ถ้าอิงจาก “ทฤษฎีลำดับขั้นของพัฒนาการ” ตามหลัก ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่ได้อธิบายว่าช่วงอายุ 0 – 13 ปี นับเป็นช่วงสำคัญในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตในทิศทางที่ดีหรือทิศทางที่ไม่ดีขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงอายุที่เด็กต้องการสิ่งใด เพราะในส่วนนี้จะเป็นช่วงที่เด็กได้เรียนรู้อะไรมากที่สุด ทั้งผ่านความคิด ผ่านอารมณ์ ผ่านพฤติกรรม จากคนที่เลี้ยงดูมาและการได้ในสิ่งที่ควรจะได้ ซึ่งแน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะส่งผลและแสดงออกมาในเชิงจิตสำนึก รู้ตัวว่ามีบาดแผลทางใจเลยเลือกแสดงพฤติกรรมผิด ๆ ไม่ผ่านการแก้ไขในทางที่ถูก และจิตใต้สำนึก สิ่งที่นึกไม่ออก จำไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วยังซ่อนอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกและเลือกทำพฤติกรรมในแบบที่ไม่รู้ตัว
ลบปมปัญหา ทรอม่า บาดแผลทางใจ ในวัยเด็กได้อย่างไร
การลบทรอม่าหรือปมปัญหาบาดแผลทางใจในวัยเด็ก เพื่อแก้ไขชีวิตปัจจุบันในตอนโตนับเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาทางแก้ไข เพื่อที่ว่าจะสามารถมีความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมไปในทางที่ดี สามารถใช้ชีวิตกับผู้คนได้อย่างสงบสุข และยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ๆ ในแต่ละด้านได้อย่างเหมาะสม โดยวิธีการแก้ไขบาดผลในวัยเด็กสามารถทำได้ดังนี้
- บาดแผลทางใจ ในทุก ๆ เรื่องก่อนอื่นจะต้อง “ยอมรับ” กับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าเลือกที่จะปฏิเสธ หรือเกลียดบาดแผลนั้น เพราะจะยิ่งทำให้ฝังลึก ซึ่งการยอมรับนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ ว่าเรื่อง ณ ตอนนั้นเป็นเพียงอดีต และอย่าให้บาดแผลเหล่านั้นส่งผลต่อปัจจุบัน
- พยายามอยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด ทำหน้าที่ของตนเองช่วงเวลานั้นให้ดี เช่น ทำงานให้ดี สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่คุณอยู่ด้วย หันมาใส่ใจตัวเอง ดูแลและพัฒนาชีวิตไปข้างหน้า โดยอาจกำหนดเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ทำให้คุณหัวใจฟูขึ้นสักหน่อย และจากนั้นก็ให้รางวัลตัวเองเสมอ ๆ
- หากไม่รู้ว่า “บาดแผลทางใจ” ในวัยเด็กคืออะไร อยากให้ลองคิดทบทวน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต ว่าคุณนั้นปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างไร และจุดจบของความสัมพันธ์เหล่านั้นอยู่ที่ตรงไหน ในจุดนี้จะทำให้คุณเริ่มเห็นแพตเทิ้ลของปัญหาทางใจที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ เมื่อรู้แล้วควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้
- หากแก้ไขไม่ได้ให้รู้ทัน “บาดแผลทางใจ” เมื่อมีความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ให้หายใจเข้าลึก ๆ หันมาโฟกัสที่ร่างกายของตนเองว่ามีการแสดงอาการเจ็บปวดตรงไหน อย่างไรบ้าง จากนั้นก็ค่อย ๆ ปล่อยมันไป ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ จะเป็นการเตือนสติตัวเองให้ดี
- การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหา บาดแผลทางใจ ในวัยเด็ก อย่างการพบจิตแพทย์หรือเข้าพบนักบำบัด ในส่วนนี้จะมีวิธีการหลายอย่างที่จะมาช่วยแก้ปมปัญหาในวัยเด็ก หรือให้เกิดการยอมรับให้ผ่านพ้นไปและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
Key Takeaways
เมื่อได้รู้เกี่ยวกับ บาดแผลทางใจ ในวัยเด็ก หากบางสิ่งสามารถย้อนวันวานกลับไปแก้ปมปัญหานั้น ๆ ได้ อยากให้ลองเปิดใจแล้วเข้าไปแก้ไขปมนั้นอย่างจริงจัง ครั้งแรกอาจทำไม่สำเร็จแต่ก็ต้องทำบ่อย ๆ เพื่อก้าวผ่านสิ่งที่ติดค้างในใจ และแก้ปัญหาชีวิตในทุกด้านได้ แต่ถ้าหากไม่สามารถแก้ไขได้แล้วจริง ๆ สิ่งเดียวที่ควรทำก็คือ “การยอมรับ” กับปมในใจที่มีอยู่ว่าเรามีบาดแผลอย่างไร และมีสติทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์เพราะมีบาดแผลทางใจ ขอเพียงแค่รู้และปล่อยผ่านมันไป สรุปแล้วถ้าหากคุณมีปัญหาชีวิตในแบบเดิม ๆ อาจเกิดจากบาดแผลในวัยเด็กก็เป็นได้
Cover Image by : Image by wirestock on Freepik