โลกธุรกิจยุคดิจิทัลทุกวันนี้.. การแข่งขันสูง ต้องแข่งกับเวลา วิธีบริหารแบบเดิมที่เน้นวางแผนกลยุทธ์ให้แน่นอนก่อนแล้วค่อยลงมือทำ ถือว่าช้าเกินไปและใช้ไม่ได้ผลดีกับยุคนี้แล้ว ซึ่งปัญหานี้ก่อให้เกิดโซลูชันการบริหารแบบใหม่ คือ “การบริหารด้วย Business Model ที่ไม่หยุดนิ่ง” เป็นการบริหารที่เน้นความเร็ว ไวต่อเหตุการณ์ และพร้อมปรับเปลี่ยนอยู่เสมอเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามแต่ละสถานการณ์.. และเรื่องราวต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจด้วย Business Model Canvas เพื่อรองรับกับการบริหารที่เน้นความรวดเร็ว พร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเสมอ โมเดลธุรกิจนี้นิยมนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่เจ้าของธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็ก เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ กลุ่มวิทยากรและเหล่าบรรดาที่ปรึกษาธุรกิจ ซึ่งถูกถ่ายถอดจากหนังสือ Business Model Generation WORKBOOK โดย อิมะสึ มิกิ


เนื้อหาหลักในบทความนี้ประกอบไปด้วย


เราต้องรู้จักคิดว่าสินค้า-บริการของเรามีคุณค่าอะไรที่ลูกค้าต้องการบ้าง ไม่อย่างนั้นก็ยากที่จะสู้กับตลาดโลกได้ ขอให้ลองใช้ canvas เป็นตัวช่วยในการคิดแบบนักออกแบบดูนะครับ

อีฟ พินเญอร์ (Yves Pigneur) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโลซานน์ ผู้พัฒนา Business Model Canvas

“ลองทำไปพร้อมกัน” เรียนรู้หลักการเขียน Business Model Canvas

Business Model Canvas จะมีเทมเพลต canvas ที่ประกอบด้วยช่องขนาดต่าง ๆ 9 ช่อง แต่ละช่องมีตัวอักษรกำกับว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร หากในตอนที่คุณกำลังประชุมวางแผนโครงการ คุณสามารถใช้เทมเพลตนี้ให้การให้ทุกคนระดมความคิด แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหารือกันในแต่ละประเด็นเพื่อได้ข้อสรุป

Template by Strategyzer

[1] กลุ่มลูกค้า (Customer Segment)

กรอกข้อมูลลูกค้าทั้งหมดของธุรกิจของคุณ แล้วแยกลูกค้าออกเป็นกลุ่มตามความเหมาะสม เช่น กลุ่มลูกค้าที่เป็นรายได้หลักของธุรกิจ กลุ่มลูกค้าที่ต้องการบริการที่แตกต่างออกไป กลุ่มลูกค้าที่ต้องเข้าถึงด้วยวิธีการใหม่ เป็นต้นๆ

[2] การเสนอคุณค่า (Value Propositions)

คุณควรเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจและคิดในมุมมองของลูกค้าว่าสายตาของลูกค้า คุณค่าที่ธุรกิจของคุณนำเสนอแก่เขาคืออะไร และทำไมลูกค้าจึงต้องเลือกคุณ เช่น ธุรกิจของคุณช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ ทำให้ลูกค้ามีความสุขและพึงพอใจ ให้คุณพยายามจับจุดความต้องการของลูกค้าของธุรกิจของคุณให้ได้ และตัดสินใจสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ขึ้นมา

[3] ช่องทาง (Channels)

ลองคิดดูว่ามีช่องทางหรือวิธีการใดบ้างที่ช่วยให้คุณสามารถกระจายข้อมูลไปยังลูกค้าได้ โดยอาจนำแนวคิดทางการตลาดมาช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น ธุรกิจของคุณใช้การยิง Ads ผ่าน facebook ในการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ารู้จัก คุณขายสินค้าบนเว็บไซต์ หรือคุณใช้ LINE Official Account ในการให้ลูกค้าติดต่อเข้ามาและปิดการ ตลอดจนบริการหลังการขาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้คุณลิสต์ออกมาให้มด

[4] ความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships)

ความสัมพันธ์มีได้มากกว่าหนึ่งรูปแบบ คุณต้องคำนึงว่าคุณจะต้องทำอย่างไรจึงจะหาลูกค้าได้ ทำอย่างไรเพื่อรักษากลุ่มลูกค้าเดิมไว้ และทำอย่างไรจึงจะขยายฐานลูกค้าได้ นอกจากนี้คุณจะบริหารความสัมพันธ์และความพึงพอใจกับลูกค้าอย่างไร

[5] กระแสรายได้ (Revenue $treams)

ย้อนกลับไปมองที่ช่อง 1. กลุ่มลูกค้า (Customer Segment) และประมาณการว่าคุณจะได้รายได้จากลูกค้าแต่ละกลุ่มอยู่ที่เท่าไหร่ เมื่อนำข้อมูลในช่องนี้ไปลบกับ 9. โครงสร้างต้นทุน (Cost $tructure) จะเป็นคำตอบให้กับธุรกิจของคุณทันทีว่ากำไรหรือขาดทุน และสถานะทางการเงินที่มั่นคงสามารถดูได้จากช่องนี้

[6] ทรัพยากรหลัก (Key Resources)

คุณต้องหาคำตอบให้ได้เสียก่อนว่าทรัพยากรหลักที่เป็นคีย์แมนขับเคลื่อนธุรกิจของคุณคืออะไร โดยธุรกิจส่วนใหญ่ในช่องนี้มักหมายถึง บุคลากร พนักงาน องค์ความรู้ เทคนิคพิเศษ วัตถุดิบ ต้นทุน หรือวัตถุต่าง ๆ เช่น หากทำธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อขาย การนำเสนอสินค้าราคาถูกแต่คุณภาพสูงคือหัวใจสำคัญ ดังนั้นช่องนี้ทรัพยากรหลักคือสิ่งที่เป็นวัตถุอย่าง โรงงาน เครื่องจักรในการผลิต หรือหากธุรกิจคุณเน้นความโดดเด่นของดีไซน์สินค้า ข้อนี้คุณอาจกรอกบุคลากรอย่างดีไซเนอร์

[7] กิจกรรมหลัก (Key Activities)

อะไรคือสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไป เช่น ธุรกิจโรงงานผลิตสินค้า กิจกรรมหลัก คือ กระบวนการผลิต การควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพ และการคิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมหลักสามารถมีได้มากกว่า 1 อย่าง บางครั้งธุรกิจแบบเดียวกันอาจมีกิจกรรมหลักที่แตกต่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับคุณค่าและองค์ประกอบอื่น ๆ ของธุรกิจเป็นหลัก

[8] พาร์ทเนอร์หลัก (Key Partners)

“คนนอก” คือคีย์เวิร์ดของข้อนี้ อาจเป็นเวนเดอร์ ซัพพลายเออร์ บริษัทหรือหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับคุณ การมีพาร์ทเนอร์ที่เหมาะสมช่วยให้การดำเนินงานคล่องตัวขึ้นและลดความเสี่ยง เช่น ถ้าคุณทำธุรกิจขายสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม พาร์ทเนอร์ของคุณอาจคือ Shopee หรือ Lazada เป็นต้น

[9] โครงสร้างต้นทุน (Cost $tructure)

ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นกับธุรกิจของคุณ tips แนะนำของการกรอกช่องนี้ให้ง่าย นั่นคือคุณต้องกรอก 6. ทรัพยากรหลัก (Key Resources) 7. กิจกรรมหลัก (Key Activities) และ 8. พาร์ทเนอร์หลัก (Key Partners) ให้เสร็จก่อน แล้วคุณจะเห็นค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน

เมื่อกรอกครบ 9 ช่องบนเทมเพลต canvas คุณจะเริ่มเห็นแล้วว่าในทุกช่องจะเชื่อมโยงถึงกัน เพราะโมเดลนี้จุดเด่นคือช่วยให้ปมต่าง ๆ กระจ่างชัดขึ้นมากและจับต้องปัญหาได้ง่ายขึ้น คุณสามารถประยุกต์เทมเพลตนี้ไปใช้ได้ตั้งแต่ทำบนกระดาษแข็ง กระดานไวท์บอร์ด ส่งปากกาให้ทุกคนได้เขียนเพื่อแชร์ไอเดียของตนเอง หรือทันสมัยหน่อยก็เลือกใช้ Collarboration tools ที่สนับสนุนให้คุณสามารถสร้างเทมเพลต 9 ช่อง canvas ได้บนคอมพิวเตอร์ ก็ง่ายและสะดวกดี เช่น Google Drive, Miro, Conceptboard, Canvanizer, Strategyze, ..

สร้างและนำไปใช้ เทคนิค DRRA ง่าย ๆ 4 ขั้นตอน

เทคนิคการนำ Business Model Canvas ไปใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดไม่แตกต่างจาก Business Model อื่นทั่วไป คือเป็นการพยายามคิดค้นว่า คุณค่า ของธุรกิจที่ทำอยู่คืออะไร จะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร และจะส่งมอบให้ลูกค้าได้ด้วยวิธีไหน อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาและปัจจัยต่าง ๆ เปลี่ยนไป Business Model เดิมที่อาจจะไม่ได้ผลดีเท่าเมื่อก่อน คุณต้องทำการปฏิรูป Business Model โดยนำมาแก้ไข หรือหากจำเป็นก็ต้องคิดค้น Business Model ใหม่ที่เหมาะสมกว่ามาแทนที่ คุณไม่จำเป็นต้องคิดอะไรซับซ้อน เพราะหากเกิดข้อผิดพลาด คุณก็ยังสามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยการลบมันทิ้งซะ แล้วเขียนใหม่

Step 1 : Draw เขียนรายละเอียดของธุรกิจหรือโปรเจคที่ทำอยู่ลงในแต่ละช่องของ canvas เพื่อสร้าง Business Model

Step 2 : Reflect รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ข้อมูลลูกค้า เทคโนโลยีที่ต้องใช้ ปัจจัยแวดล้อม เพื่อคุณจะได้เข้าใจปัญหาหรือความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น

Step 3 : Revise นำข้อมูลหรือไอเดียที่ได้จาก Step 2 มาเขียนเพิ่มลงบน canvas อันเดิมหรือสร้างใหม่ก็ได้ และเมื่อเขียนเสร็จแล้วให้พิจารณาเลือกโมเดลที่เหมาะสมที่สุด

Step 4 : Act นำ Business Model ที่เลือกมาทดลองใช้ คอยสังเกตผลลัพธ์ และหมั่นปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เสมอ

Case study ร้านขายหนังสือมือสอง

หากอ่านมาถึงตรงนี้ และคุณยังไม่มั่นใจนักว่าจะสร้าง Canvas ขึ้นมาให้กับธุรกิจของตนเองได้อย่างไร.. เราดีใจด้วย ! เพราะคุณสามารถทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก case study ของร้านขายหนังสือมือสองนี้ได้เลย ตัวอย่างนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นอีกเยอะ

ธุรกิจ : ร้านขายหนังสือมือสอง

Canvas : เวอร์ชัน 1.0

1. กลุ่มลูกค้า (Customer Segment)กลุ่มลูกค้าหลักที่สำคัญที่สุดของธุรกิจร้านขายหนังสือมือสอง แน่นอนว่าคือ กลุ่มคนซื้อหนังสือมือสอง แต่กรณีร้านหนังสือมือสองจำเป็นต้องรับซื้อหนังสือเข้ามาด้วย จึงมีกลุ่มลูกค้าพิเศษอีกกลุ่มคือ กลุ่มคนที่ต้องการขายหนังสือของตัวเอง ประเด็นสำคัญคือคุณต้องไม่ลืมที่จะจัดกลุ่มลูกค้าในข้อนี้ด้วยนะ
2. การเสนอคุณค่า (Value Propositions)คุณค่าของธุรกิจนี้ แบ่งได้เป็นสองคุณค่า สำหรับกลุ่มคนซื้อหนังสือมือสอง คุณค่าที่ธุรกิจร้านขายหนังสือมือสองนี้มอบให้คือการช่วยให้ลูกค้า สามารถซื้อหนังสือได้ในราคาถูก และสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการขายหนังสือของตัวเอง ธุรกิจนี้ช่วยให้ลูกค้า สามารถเปลี่ยนของไม่ใช้แล้วให้เป็นเงินได้ และช่วยจัดระเบียบบ้านให้มีระเบียบ
3. ช่องทาง (Channels)ช่องทางคือจุดที่ธุรกิจกับลูกค้ามาเจอกัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ก่อนที่ลูกค้าจะเข้ามาซื้อสินค้า ไปจนถึงบริการหลังการขาย สำหรับธุรกิจร้านขายหนังสือมือสองนี้ใช้วิธีลงโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต และมีหน้าร้าน แต่ในที่นี้จะเลือกช่องทางที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจประเภทนี้ นั่นคือ หน้าร้าน ซึ่งเป็นช่องทางที่ลูกค้าที่เดินผ่านไปมาพบเห็น
4. ความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships)เนื่องจากเราโฟกัส ช่องทาง (Channels) เป็นหน้าร้าน ดังนั้นความสัมพันธ์กับลูกค้าจะอยู่ที่หน้าร้านเป็นหลัก นั่นคือเป็น การพบหน้าพูดคุยกันโดยตรง
5. กระแสรายได้ (Revenue $treams)แน่นอนว่าสำหรับธุรกิจขายหนังสือ รายได้หลักก็คือ เงินค่าหนังสือ ที่ได้จากลูกค้าในกลุ่มคนซื้อหนังสือมือสอง แต่สำหรับกรณีนี้เรามี กลุ่มลูกค้า (Customer Segment) อีกกลุ่มคือคนที่มาขายหนังสือ.. มาถึงตรงนี้คุณอาจจะตั้งคำถามว่าเอ๊ะ !.. ในเมื่อเขามาขายหนังสือ ร้านก็ต้องเสียเงินซื้อหนังสือให้ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ใช่หรอ ? และควรจะนำไปกรอกในช่อง โครงสร้างต้นทุน (Cost $tructure) แต่ทว่า กรณีนี้น่าสนใจมากเพราะหากวิเคราะห์ต่อไปอีกหน่อย โมเดลธุรกิจของร้านขายหนังสือมือสองจะพิเศษตรงที่ คนมาขายหนังสือบางครั้งก็มาซื้อหนังสือด้วยเช่นกัน ดังนั้นรายได้และรายจ่ายของลูกค้าทั้งสองกลุ่มจึงอยู่ในช่องนี้ โดยใส่เครื่องหมาย – (ลบ) ตามหลัง เงินค่าหนังสือ (-)
6. ทรัพยากรหลัก (Key Resources)สิ่งแรกที่นึกถึงคงหนีไม่พ้น หน้าร้าน และ พนักงาน และแน่นอนว่าธุรกิจร้านขายหนังสือมือสองย่อมมีลักษณะเฉพาะเหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งอยากให้คุณลองคิดนอกกรอบดูเช่นกันหากได้ลองวิเคราะห์ธุรกิจของตัวเองที่ข้อนี้ สิ่งพิเศษนั้นคือ เทคนิคทำความสะอาดหนังสือเก่าให้ดูใหม่ รวมไปถึง ระบบซอฟต์แวร์ชำระเงิน ที่ใช้งานง่ายและทำให้ขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว
7. กิจกรรมหลัก (Key Activities)การซื้อ และ ขายหนังสือ ที่คำตอบของข้อนี้ ถ้าให้พิเศษขึ้นอีกหน่อยอีกกิจกรรมหลักคือการดูแลข้อมูลและอัพเกรดระบบซอฟต์แวร์ชำระเงิน ก็มีความเกี่ยวข้องกับข้อนี้เช่นกัน
8. พาร์ทเนอร์หลัก (Key Partners)เคสนี้ไม่มีพาร์ทเนอร์ เพราะเน้นขายหน้าร้าน และไม่ได้ไปซื้อหนังสือมาจากแหล่งอื่น
9. โครงสร้างต้นทุน (Cost $tructure)ต้นทุนที่จำเป็นที่สุดของธุรกิจนี้คือ ค่าจ้างพนักงาน และ ค่าใช้จ่ายดูแลหน้าร้าน หากคุณกรอกข้อนี้และเป็นช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ข้อนี้ควรกรอกต้นทุนที่ใช้ไปกับการซื้อของเข้าร้านและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ชำระเงินมาคิดด้วย

รู้หรือไม่ ?! จาก case study นี้ คุณยังสามารถเพิ่มคุณค่าให้กับโมเดลธุรกิจนี้ได้อีก โดยเทคนิคคือคุณสามารถอัปเดต canvas ให้เป็นเวอร์ชัน 2 (จะใช้วิธีสร้าง canvas เป็นเวอร์ชันใหม่ จะไม่แทนที่เวอร์ชันเดิม เพื่อในอนาคตเวอร์ชันใหม่ไม่ดีพอ คุณยังสามารถกลับมาใช้เวอร์ชันเก่าได้) โดยคุณต้องทำการเพิ่ม แก้ไข หรือลบข้อมูลที่ช่องใดช่องหนึ่งได้ แต่ขอให้จำไว้ว่าช่องที่คุณปรับแก้ ยิ่งช่องนั้นมีความสำคัญต่อโมเดลธุรกิจมากเท่าไหร่ ความเปลี่ยนแปลงก็จะยิ่งส่งผลมากเท่านั้น และข้อมูลในช่องอื่น ๆ ก็ต้องได้รับการรีวิวอีกครั้ง เพื่อปรับแก้ให้สอดคล้องกัน

ยกตัวอย่างการอัปเดต canvas เป็นเวอร์ชัน 2 สำหรับ case study ของธุรกิจร้านขายหนังสือมือสอง ในช่อง 1. กลุ่มลูกค้า (Customer Segment) หากคุณลองเพิ่ม คนที่อยากมีร้านขายหนังสือมือสองเป็นของตัวเอง เข้าไปในช่องนี้ จากนั้นคุณต้องทำการรีวิวอีกแปดช่องที่เหลือว่ามีช่องไหนได้รับผลกระทบและต้องปรับปรุง และสมมติว่าร้านขายหนังสือมือสองนี้ต้องการขายแฟรนไชส์ คุณอาจจะวิเคราะห์ต่อได้ว่า.. ดังนั้นคนที่อยากมีร้านขายหนังสือจะต้องรู้สึกว่า ระบบสนับสนุนแฟรนไชส์ และ แบรนด์ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คุณควรจะเสนอคุณค่าให้แก่ลูกค้าเพิ่มมาในช่อง 2. การเสนอคุณค่า (Value Propositions) และแน่นอนว่าต้องมี ค่าใช้จ่ายพัฒนาระบบแฟรนไชส์ กระทบกับช่อง 9. โครงสร้างต้นทุน (Cost $tructure) มีรายได้จาก ค่าแฟรนไชส์ เพิ่มมาที่ช่อง 5. กระแสรายได้ (Revenue $treams) ..ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับคุณดีไซน์

Cover Image : Image by rawpixel.com on Freepik

Credit :


คอร์สอบรมแนะนำจาก อบรมดอทคอม

Exit mobile version