กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด.. กรุงโรมก็ไม่ได้สร้างด้วยคนเพียงคนเดียวฉันนั้น แน่นอนว่าเหนือสิ่งอื่นใดหากคุณต้องการทำงานสเกลใหญ่ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย นอกจากสกิลของคนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดหนีไม่พ้นการสร้าง “ทีมเวิร์ค” ที่ดี เพื่อที่จะสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งประโยชน์ทางตรงที่คุณเห็นได้ชัดของการมีทีมเวิร์คที่ดี นั่นคือคุณภาพของงาน ปริมาณ และเวลาที่ดีขึ้น ส่วนประโยชน์ทางอ้อมคือองค์กรได้พัฒนาองค์ความรู้ที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว แต่การสร้างทีมเวิร์คให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีได้นั้น.. ไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมเวิร์คที่ทำงานให้ออกมาดีได้นั้นไม่ใช่ว่าใครจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้

หากคุณเป็นหัวหน้าและมีบทบาทในการจัดการทรัพยากรบุคคล สิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องมีทักษะที่ดีในการจัดสรรคนให้ลงตัว สกิลของแต่ละคนต้องสอดคล้องเหมาะสมกันเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง จำนวนคนต่อทีมต้องพอดีเหมาะสมกับปริมาณงาน ไม่ใช่ทำงานร่วมกันแล้วกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ แต่แม้ว่าการจัดการกับคนคือเรื่องน่าปวดกหัวที่สุดของทุกกิจกรรมในองค์กร ซึ่งยากแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางทำให้ดีได้ เอาล่ะ!.. งั้นต่อไปนี้คุณจะได้รู้ว่าการสร้าง ทีมเวิร์ค ที่ดีมีแนวคิดอย่างไร

เริ่มจากคิดก่อนว่า.. ทีมเวิร์คที่ดีต้องมีกี่คน ?

จากที่บอกไปว่า.. จำนวนคนต่อทีมต้องพอดีเหมาะสมกับปริมาณงาน ต้องไม่หลวมแต่ก็ต้องไม่บีบรัดจนเกินไป การที่จะสร้าง ทีมเวิร์ค ขึ้นมา ก่อนอื่นขอแนะนำให้คุณนิยามสเกลของงานก่อนว่ามีขนาดระดับไหน เล็ก (S) กลาง (M) หรือ ใหญ่ (L) หากงานของคุณมีปริมาณมาก มีความละเอียดและซับซ้อน อาจมีระดับใหญ่มาก (XL) ด้วยก็ได้ ซึ่งใช้แนวคิดเดียวกัน เพื่อที่คุณจะสามารถสร้างทีมที่ดีขึ้นมา มีจำนวนคนต่อทีมเหมาะสมจนสามารถเพิ่มศักยภาพการทำงานได้อย่างเต็มที่

Small Sizing

งานขนาดเล็ก จำนวนคนที่คุณควรจัดให้เหมาะสมต่อทีมคือประมาณ 4 – 5 คน รวมหัวหน้าทีม (Leader) โดยคนกลุ่มนี้ควรมีหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกัน เพื่อที่ว่าทุกคนจะสามารถทำงานตามหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยมีหัวหน้าทีมคอยแนะนำ ให้คำปรึกษา ช่วยแก้ปัญหา และผสานงานแต่ละส่วนเพื่อให้ผลงานออกมาเสร็จสมบูรณ์ตามที่ได้รับมอบหมาย

Medium Sizing

งานขนาดกลาง แนะนำว่าจำนวนที่เหมาะสมคือ 6 – 7 คน โดยคุณควรกำหนดให้ทีมมีทั้งหัวหน้าทีมและรองฯ ส่วนสมาชิกที่เหลือควรมีหน้าที่ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ถ้าหากตำแหน่งหน้าที่ใดไม่สามารถมีแค่คนเดียวได้ คุณอาจเพิ่มให้มีสองคนที่ทำหน้าที่เดียวกันก็ถือว่าเป็นจำนวนกำลังดี แต่ไม่ควรมีมากกว่านี้แล้ว เพราะจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับงานในหน้าที่นั้น หากเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่จำเป็นต้องตัดสินใจ และจะส่งผลทำให้เกิดการดำเนินการที่ล่าช้าขึ้นทันที

Large Sizing

ทีมเวิร์ค
Image by storyset on Freepik

งานขนาดใหญ่สเกลระดับ L หรือ XL ขึ้นไปก็สามารถใช้แนวคิดนี้ได้ งานระดับใหญ่นี้มีความซับซ้อนและหลายขั้นตอน ดังนั้นเพื่อให้งานสำเร็จ คุณจำเป็นต้องมีหลาย ๆ ฝ่ายที่ทำหน้าที่ที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมาก คุณต้องแตกทีมย่อย ๆ ตามแต่ละฝ่ายขึ้นมา โดยอาจจะมีตั้งแต่ 3 – 5 คนของแต่ละทีมย่อย โดยแต่ละทีมย่อยจะมีหัวหน้าทีมของตัวเอง และหัวหน้าทีมแต่ละคนมีหน้าที่ต้องเอาผลงานของทีมมารายงานข้อสรุปเพื่อหารือตามกำหนดการที่ได้ตกลงไว้ด้วยกัน อาจจะเป็นสองวันต่อครั้งหรืออาทิตย์ละครั้ง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของงาน โดยต้องมีผู้ที่มีบทบาทสำคัญหนึ่งคนคอยรวบรวมข้อสรุปงานของแต่ละทีม และนำมาประกอบร่างให้เป็นภาพใหญ่ของงานโดยเสร็จสมบูรณ์ แทคติกแบบนี้จะดีกว่าการที่คุณสร้างทีมใหญ่ทีมเดียวแล้วเรียกประชุมงานรวมกันมากกว่า 10 คน ซึ่งการทำแบบนั้นคุณจะเป็นการเสียเวลามาก และแน่นอนว่าจะทำให้ศักยภาพการทำงานของแต่ละคนลดลงด้วย

ทีมเวิร์ค คลาส SSS สร้างอย่างไร ?

เมื่อคุณรู้สเกลงานและกำหนดปริมาณคนในทีมแล้ว แน่นอนว่าลำดับถัดมาคุณต้องเลือกคนเพื่อมาทำงานในทีมเดียวกัน คุณคงไม่อยากเลือกคนที่สุดขั้วมาอยู่ด้วยกันเพราะกลัวว่าเขาจะทะเลาะกัน.. ใช่หรือไม่ ? คุณคงไม่อยากเลือกคนเฮฮามาอยู่ด้วยกัน เพราะกังวลว่างานจะไม่คืบหน้าไปไหน ใช่ไหมล่ะ ?.. และนี้แหละคือสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคุณจำเป็นต้องใช้ศาสตร์ของการวิเคราะห์คนอย่างจริงจังว่าทีมของคุณนั้นจะต้องมีคนแบบไหนมารวมกัน ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกคน ไม่จำเป็นต้องทำงานเร็วเสมอไป แต่ต้องอยู่ด้วยกันแล้วผลักดัน ผสมผสานกันอย่างเหมาะสมลงตัว ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นทีมเวิร์คคลาส SSS

อย่างที่บอกไปการจัดการเรื่องคนนั้นเป็นเรื่องยากและท้าทาย บนโลกนี้มีหลากหลายศาสตร์ในการจัดสรรกับคนเพื่อสร้างทีมเวิร์ค และขอแนะนำให้คุณได้รู้จักวิธีการสร้างทีมเวิร์คที่น่าสนใจมากวิธีหนึ่งจากหนังสือ “วิธีเอาตัวรอดในวงล้อมคนงี่เง่า” โดย โธมัส เอริคสัน เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์บุคลิกคนที่แสดงผ่านสีแต่ละสี คนหนึ่งคนอาจมีมากกว่าหนึ่งสีก็ได้ แนวคิดนี้สามารถนำมาประยุกต์กับการจัดสรรคนในทีม นอกจากนี้ เอริคสัน ยังให้เสริมว่าในหนึ่งทีมเวิร์คควรมีทุกสีอยู่ในนั้น เพื่อสร้างความแตกต่าง และขณะเดียวกันสีหนึ่งก็จะกลบจุดบอดบุคลิกของสีอื่นได้ด้วย

Image by Freepik

สีแดง

สีแดง คนสีแดงเหมาะกับการเป็นผู้นำของทีม มีความมั่นใจตัวเองสูง มีมาตรฐานที่ตนเองตั้งไว้ และกล้าตัดสินใจ ในขณะเดียวกันก็ต้องการความรวดเร็วทันใจในการทำงานนั้น ๆ บางครั้งจึงขาดความรอบคอบและรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ หากคุณวิเคราะห์แล้วพบว่ามีคนที่แทนด้วยสีแดง ดังนั้นคน ๆ นี้จึงเหมาะเป็นหัวหน้าทีมเพื่อชี้นำคนในทีมงานสีอื่น ๆ ให้ช่วยกันทำงานตามเป้าหมาย และสีอื่น ๆ จะทำการเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เอง และหากในสถานการณ์ที่มีคนในทีมไม่เห็นด้วยกับสีแดง การอธิบายด้วยหลักเหตุผลพร้อมพิสูจน์จะช่วยทำให้สีแดงเข้าใจและยอมรับได้

สีน้ำเงิน

สีน้ำเงิน เหมาะกับการเป็นรองผู้นำของทีม สีน้ำเงินชอบวางแผน มีความต้องการให้งานสมบูรณ์แบบ และมีนิสัยเน้นปลอดภัยไว้ก่อน มักมองเหตุการณ์ตามสถานการณ์จริง คุณอาจคิดว่าสีน้ำเงินเหมาะกับการเป็นหัวหน้าทีมมากกว่าหรือเปล่า ต้องบอกไม่ถูกและไม่ผิด แต่บุคลิกที่ชัดเจนของสีน้ำเงินคือจะเลือกทำตามแผนที่วางไว้เสมอ เก็บรายละเอียดงานเก่ง และไม่กล้าที่จะออกนอกลู่นอกทาง หรือกว่าจะตัดสินใจอะไรจะต้องมีเหตุผลมารองรับ และใช้เวลานานมาก ๆ ซึ่งในบางครั้งหัวหน้าทีมควรเด็ดขาดและกล้าตัดสินใจ ซึ่งการมีสีแดงมาช่วยกระตุ้นก็จะทำให้สีน้ำเงินมีศักยภาพในการตัดสินใจได้ไวขึ้น

สีเขียว

สีเขียว เหมาะกับคนที่เป็นลูกทีม มีนิสัยเรียบง่าย ชอบความมั่นคง และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นผู้ฟังที่ดี มีความประนีประนอมตามใจทุกคน และมีความกลัวที่ไม่กล้าออกจากเซฟโซน ในการมอบหมายงานนี้สีเขียวจะทำงานตามสั่ง และไม่กล้าคิดนอกกรอบ เพราะมีความกลัวในใจลึก ๆ หากได้ทำงานร่วมกัน จำเป็นที่จะต้องใช้คำพูดที่นุ่มนวล และอาจให้สีอื่น ๆ ช่วยเข็นในการให้สีเขียวทำอะไรใหม่ ๆ 

สีเหลือง

สีเหลือง เหมาะกับคนที่เป็นลูกทีม เพราะเป็นคนมองโลกในแง่ดี มีความสนุกสนาน มีจินตนาการสูง ชอบสร้างเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และเป็นคนชอบพูดคุยบางครั้งอาจไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน ชอบพูดไปเรื่อย อาจต้องให้สีแดงช่วยเบรค ด้วยบุคลิกแบบนี้จะลดความเครียดระหว่างการทำงานได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันการแจกจ่ายงานให้กับลูกทีมสีเหลือง คุณจะต้องกำหนดเวลาในการส่งชัดเจน และอาจให้สีน้ำเงินช่วยแพลนงานให้เป็นระบบกับสีเหลืองได้

ภาพวาดบนโลกความจริงที่มีสีไม่ครบสี่สี

ถึงไม่บอกคุณก็คงรู้ดีอยู่แล้วว่า บนโลกความจริงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากหากลองนำแนวคิดการจำแนกบุคลิกคนเป็นสีทั้งสี่สีออกมา และหากคุณต้องมีบทบาทในการจัดสรรทีมงานหรือสร้าง ทีมเวิร์ค เพื่อลุยงานหรือโปรเจคใด แน่นอนว่าคุณอาจไม่สามารถพบเจอคนทั้งสี่สีในทีมเดียวกัน อาจด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากรหรือปัจจัยใดก็ตาม แต่อย่างน้อยการจำแนกสีให้กับบุคลิกของคนในทีมนั้น คุณจะสามารถรู้ว่าสีไหนคือส่วนที่ขาดหายไปของภาพวาด และต้องนำสีใดบ้างมาแต่งแต้มเติมเต็มเพื่อให้ทีมเวิร์คของคุณเป็นภาพที่สมบูรณ์

การเติมสีให้กับทีม คุณอาจหาสีมาเพิ่ม โดยการเพิ่มคนหรือไม่ก็ได้ เพียงแต่คุณต้องโค้ชเขาเพื่อเติมเต็มสีบางสีให้เขา แดงอาจไม่แดงแจ๋ อาจจะออกส้ม เขียวอาจะเขียวอ่อน ๆ ไม่มีอะไรสมบูรณ์ แต่เชื่อเถอะหากคุณทำได้ละก็.. แน่นอนว่าความสัมพันธ์ที่ดีของคนในทีมจะไม่เพียงแต่ช่วยกันพัฒนาไปข้างหน้า แต่พวกเขาจะยังช่วยเหลือกันในยามประสบปัญหา ท้ายที่สุดไม่เพียงแค่ “Productivity” ที่แน่นอนว่าต้องออกมาดี แต่คุณจะได้ทีมงานที่ “Healthy” ด้วย แหะนี่แหละคือทีมเวิร์คคลาส SSS อย่างแท้จริง ดังนั้นหากหัวหน้าคนไหนที่กำลังจะสร้างทีมขึ้นมาสักที ลองนำแนวคิดและวิธีการกำหนดปริมาณคนและการจัดสรรคนนี้ไปใช้กันดูนะทุกคน

Cover Image : Image by storyset on Freepik


คอร์สอบรมแนะนำจาก อบรมดอทคอม

Exit mobile version