หลายครั้งพฤติกรรมบางอย่างที่แสดงออกมา เราก็ไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมถึงทำแบบนั้น จนทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลง หรือแม้แต่ตัวเองก็ไม่พอใจที่แสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมา แต่ทุกอย่างสามารถแก้ได้ เพียงแค่เรา “เข้าใจตัวเอง” ให้มากยิ่งขึ้น แต่การจะเข้าใจได้นั้น ก็ต้องมีหลักการหรือทฤษฎีมารองรับเสียหน่อย เพื่อการพัฒนาที่ดีและตรงจุด เราขอแนะนำให้รู้จักกับ Satir Model แนวคิดทางด้านจิตวิทยาเพื่อ บำบัดจิต ที่วงการจิตแพทย์ทั่วโลกต่างก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย
เริ่มต้นเข้าใจตัวเอง ด้วย ซาเทียร์โมเดล บำบัดจิต
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับแนวคิดของ Satir Model กันก่อน โดยแนวคิดนี้คิดโดย เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ แพทย์บำบัดครอบครัว ที่ได้นำเรื่องของจิตใจมนุษย์มาเปรียบเทียบเป็นภูเขาน้ำแข็ง ที่ปกติจะมียอดน้ำแข็งโผล่พ้นน้ำ ในขณะที่ภูเขาน้ำแข็งส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ก้นบึ้งของมหาสมุทร โดยสามารถแบ่งชั้น ๆ ได้ดังนี้
1. พฤติกรรมที่แสดงออกมา (Behavior)
สิ่งที่เห็นได้ชัดหรือเห็นได้ด้วยตาเปล่า นั่นก็คือพฤติกรรมที่สามารถแสดงออกได้ผ่านทางคำพูด น้ำเสียง อากัปกริยา หรือการแสดงออกต่าง ๆ ที่อาจตอบสนองกับตัวเอง หรือต้องการจะสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับความรู้สึก ตัวอย่างเช่น ลูกกลับบ้านช้า ไม่เป็นไปตามที่ตกลง พ่อแม่เลยตีลูก ซาเทียร์จัดให้ส่วนนี้เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่พ้นน้ำ
2. ความรู้สึก (Feelings)
ความรู้สึก นับว่าเป็นสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ภายในและเลือกที่จะแสดงออกมาให้เห็น เช่น ดีใจ เสียใจ เศร้า หดหู่ สิ้นหวัง ท้อแท้ เหนื่อย กลัว และอื่น ๆ ที่สามารถระบุได้ว่าเป็นความรู้สึก ตัวอย่างเช่น พ่อแม่โกรธลูกที่กลับบ้านช้าสุด ๆ แต่ความรู้สึกของมนุษย์ ไม่ได้มีเพียงแค่ “ความรู้สึก” ที่แสดงออกมาเท่านั้น เพราะความรู้สึกของมนุษย์มีความซับซ้อนขึ้นไปอีกว่า ความรู้สึกที่ได้เกิดขึ้น แท้จริงแล้วในใจลึก ๆ เรารู้สึกอย่างไร จากตัวอย่างเดิม พ่อแม่กลับรู้สึกผิดที่โกรธลูก เพราะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โดยตั้งแต่ชั้นนี้เป็นต้นไปจะเป็นส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำทั้งหมด
3. การรับรู้ (Perceptions)
การรับรู้หรือก็คือความคิดต่าง ๆ ที่เรามีต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ได้เกิดขึ้น โดยการรับรู้เหล่านี้อาจเป็นจริง อาจไม่เป็นจริง หรือมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น การที่ลูกมาช้าคือไม่เชื่อฟัง, ลูกมาช้าเพราะเกิดเรื่องอะไรหรือเปล่า, ลูกมาช้าเพราะไม่อยากอยู่กับครอบครัวหรือเปล่า และอื่น ๆ อีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงความคิด
4. ความคาดหวัง (Expectations)
การคาดหวัง หรือก็คือความอยากที่มีต่อตัวเอง ต่อคนอื่น หรือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะถ้าหากเกิดขึ้นจริงมันจะไม่ใช่ความคาดหวัง ตัวอย่างเช่น พ่อแม่อยากให้ลูกกลับบ้านตรงเวลา ไม่อยากให้ลูกไปเถลไถลนอกบ้าน หากสังเกตดี ๆ ทั้งความอยาก และไม่อยากนับเป็นความคาดหวังได้ทั้งนั้น
5. ความปรารถนา (Yearnings)
ความปรารถนา นับเป็นความต้องการส่วนลึกในจิตใจ ซึ่งสามารถแบ่งประเภท หรือจัดคำนิยามเหล่านั้นให้เป็นภาพที่สามารถสะท้อนความคาดหวังได้ยิ่งขึ้น หรือบางตำราก็ได้บอกไว้ว่าความปรารถนา คือ อาหารของใจ เพราะถ้าหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ ตัวเราก็จะไม่มีทางมีความสุข โดยอาหารใจ สามารถแบ่งได้เป็นดังนี้
- ความรัก
- การยอมรับ
- รู้สึกมีคุณค่า
- อิสระ
- สงบ
- ความปลอดภัย
- ความสัมพันธ์เชื่อมโยง
ตัวอย่าง จากเหตุการณ์ที่พ่อแม่โกรธลูกเพราะลูกกลับบ้านดึก แต่พอเริ่มใจเย็นลงก็เริ่มรู้สึกผิดเพราะโกรธลูกรุนแรงเกินไป ซึ่งความโกรธนั้น แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาส่วนลึก นั่นก็คือ ความรัก และความปลอดภัยที่มีต่อลูก ซึ่งอาหารใจในส่วนนี้จะนับว่าเป็นสิ่งปกติที่มนุษย์เราต้องมีในทุกข้อ
6. ตัวตน (Self “I Am”)
ส่วนที่เป็นฐานของภูเขาน้ำแข็งและอยู่ด้านล่างสุด เปรียบได้กับ ตัวตนที่เราเป็น เมื่อเรารู้ว่าเราเป็นใคร เราก็จะเข้าใจตัวเองได้มากยิ่งขึ้น
ยินดีด้วย !!! ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ แสดงว่าวันพรุ่งนี้จะดีขึ้นกว่าวันนี้แน่ ๆ และหัวข้อถัดไปเเราจะกล่าวถึงเทคนิคการนำ Satir Model บำบัดจิต ไปใช้กัน !
เทคนิคง่าย ๆ Satir Model บำบัดจิต ด้วยตัวเอง
จากระดับชั้นของภูเขาน้ำแข็งทั้งหกระดับที่ได้กล่าวไป ถ้าเราทบทวนความรู้สึกที่เกิดกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และสามารถจำแนกความรู้สึกต่าง ๆ ตามแต่ระดับชั้นได้ ก็จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น และถ้าหากอยากจะลองเปลี่ยนอะไรเพื่อสามารถสร้างสุข หรือสิ่งที่ดีกว่าได้ ก็สามารถเลือกเปลี่ยนในระดับชั้นของความรู้สึก, การรับรู้, ความคาดหวัง, ความปรารถนาได้ และเมื่อมีการเปลี่ยนจากภายใน พฤติกรรมภายนอกเองก็จะมีการเปลี่ยนไปด้วย
เทคนิคการนำไปใช้นั่นไม่ยาก ลองทำตามวิธีต่อไปนี้ดูได้เลย !
1. เริ่มจากการเตรียมกระดาษและปากกาวาดรูปภูเขาน้ำแข็ง โดยให้ยอดภูเขาน้ำแข็งโผล่ขึ้นเหนือน้ำ โดยชั้นนี้ให้เป็นพฤติกรรม และชั้นอื่น ๆ เป็นชั้นที่อยู่ใต้น้ำ ไล่ระดับให้ต่ำลงล่างเรื่อย ๆ โดยเริ่มจาก ความรู้สึก ไปถึง ชั้นตัวตนได้เลย
2. เขียนพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้น โดยระบุไว้เป็นเหตุการณ์ ๆ นึงที่ต้องการจะทำความเข้าใจตัวเอง
3. ในชั้นความรู้สึก เขียนสิ่งที่รู้สึกตอนแสดงพฤติกรรมนั้นออกมา และแยกอีกส่วนเป็นความรู้สึกที่มีต่อความรู้สึกอีกทีนึง
4. จากนั้นมาเขียนในส่วนมุมมอง การรับรู้ หรือความคิดที่มีต่อพฤติกรรมเหล่านั้น “สำคัญ” ในจุดนี้ยิ่งใหญ่เยอะได้ ยิ่งดี เพราะจะได้เห็นความคิดของเราชัดเจนยิ่งขึ้น
5. จากนั้นก็ให้เขียนความคาดหวัง ว่าการที่เราแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมา สรุปแล้วต้องการอะไร พร้อมระบุว่าเป็นอาหารใจด้านไหนไปด้วยเลย
6. ในส่วนที่เป็นตัวตน คือ การให้คะแนนพลังชีวิต โดยสามารถเริ่มจากเลขติดลบ (พลังชีวิตไม่ดีเลย) หรือถ้าเป็นตัวเลขบวก (พลังชีวิตดี) ระบุไว้ได้เลย
เมื่อเราได้รู้แนวคิดหรือหลักการของ Satir Model แล้ว ก็สามารถที่จะเริ่มฝึกด้วยตนเองได้อย่างง่าย ๆ แต่ถ้าหากใครอยากเข้าสู่การบำบัดจิตใจโดยใช้ศาสตร์ ซาเทียร์สามารถตามหาโรงพยาบาลที่มีนักจิตวิทยา จิตแพทย์ที่มีแผนกจิตเวชโดยเฉพาะ หรือมีโปรแกรมบำบัดเกี่ยวกับศาสตร์นี้ก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้ หากใครที่อยากเข้าใจตัวเองและสามารถสุขได้กว่าที่เคย การใช้แนวคิดนี้นับว่าเป็นอีกทางเลือกที่ตอบโจทย์
“พรุ่งนี้ต้องดีกว่าเดิม”
คอร์สอบรมแนะนำ “การพัฒนาตนเอง” จากฐานข้อมูลอบรมดอทคอม