ถ้าหากใครนั่งติดอยู่กับโต๊ะทำงาน นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดวัน หรือสาวก “มนุษย์เงินเดือน” แบบเรา ๆ ที่ทำงานวันนึงต่อเนื่อง 8 ชั่วโมงไม่ได้พัก หรือมีการเปลี่ยนอิริยาบถน้อยมากในแต่ละวัน ไม่ต้องแปลกใจ.. คุณก็คือคนนึงที่กำลังเสี่ยงหรืออยู่ในสภาวะของ โรคออฟฟิศซินโดรม เสียแล้ว โรคยอดฮิตของชาวออฟฟิศ โดยลักษณะอาการของคนที่เป็นโรคชนิดนี้เกิดจากการใช้มัดกล้ามเนื้อ และเยื่อพังผืดที่เดิมซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อส่งผลให้ปวดในระยะยาว และถ้าหากมีการดูแลไม่ดีพอ หรือไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี โรคนี้อาจลุกลามเรื้อรังได้ ถึงตอนนั้นอาจเป็นเรื่องใหญ่ให้เปลืองสตางค์ถึงขั้นผ่าตัดเลยก็มั ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจ สุขภาพของคุณควรมาเป็นอันดับหนึ่ง ว่าแล้วก็ลองไปสังเกตุอาการกันก่อนเพื่อหาแนวทางรักษาและการป้องกันต่อไป..
เช็กลิสต์ ! โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นตรงไหนได้บ้างและต้องดูแลอย่างไร
1. ปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก
สำหรับอาการ โรคออฟฟิศซินโดรม ที่สามารถเจอได้บ่อยนั่นก็คือ อาการปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก หรือก็คือส่วนด้านบน ที่อาจจะเกิดได้จากการทำงานในโต๊ะที่ไม่ตรงตามสรีระของร่างกาย หรือก็คือนั่งหลังค่อม คอยื่นเป็นเวลานาน ๆ
วิธีรักษา : ทายาแก้ปวด, นวดแผนไทยให้กล้ามเนื้อคลาย, ทำกายภาพบำบัด เช่น เครื่อง Shock Wave
วิธีป้องกัน : ปรับท่านั่งให้ถูกหลักโดยด่วน และทุกเช้า – เย็น ให้ทำการยืดเส้น โดยเริ่มได้จากใช้มือข้างซ้ายจับที่ศีรษะดันมาที่ด้านซ้ายแล้วให้บ่าตึงที่ด้านขวา (ทำสลับกัน), ให้ใช้มือข้างที่ถนัดกดศีรษะมาด้านหน้าและเงยขึ้น, ให้จับศีรษะหันหน้า 45 องศา (ทำสลับกัน) อย่างละ 15 ครั้ง
2. ปวดหลัง
ในส่วนของอาการปวดหลังก็สามารถพบเจอได้บ่อยเช่นเดียวกัน ส่วนมากจะมีอาการบริเวณช่วงหลัง หรือไล่ไปแนวบริเวณด้านข้างกระดูกสันหลัง โดยอาการปวดหลังอาจเกิดได้จากนั่งไม่เต็มก้น นั่งเลื่อย เก้าที่ทำงานไม่สามารถรับรองหลังได้
วิธีรักษา : ทายาแก้ปวด, นวดแผนไทยให้กล้ามเนื้อคลาย, ทำกายภาพบำบัด, ตรวจเช็กบริเวณกระดูกสันหลังว่ามีอาการคดหรือไม่ (ถ้ามีอาการคดจะทำให้ปวดง่ายขึ้น)
วิธีป้องกัน : หมั่นยืดเส้นยืดสายเป็นประจำ โดยสามารถเริ่มจากเอามือทั้งสองไขว่หลังกันจับข้อศอกอีกข้าง ใช้หัวแอ่นไปด้านหน้าเพื่อทำการยืดหลัง หากคุณเป็นหนักจนหลังแข็งไม่สามารถทำท่านี้ได้ ให้เปลี่ยนเป็นนอนราบแผ่นหลังติดกับพื้นเหยียดแขนขาให้สุดแทนก็ได้ผลดีเช่นกัน
3. ปวดศีรษะ
ในส่วนของการปวดศีรษะนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่อยู่ในภาวะเครียด หรืออาจส่งผลให้เกิดไมเกรน ซึ่งเป็นผลพวงให้เกิด โรคออฟฟิศซินโดรม ทั้งนี้การปวดบริการช่วงคอ บ่า ไหล่ หรือใช้สายตามากเกินไปก็สามารถส่งผลให้ปวดศีรษะได้เช่นกัน
วิธีรักษา : ทานยาแก้ไมเกรน, พบหาจิตแพทย์เพื่อแก้ความเครียด, พักสายตาบ่อย ๆ, นอนหลับให้เป็นเวลาและเพียงพอ
วิธีป้องกัน : ไปเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีจัดการความเครียดที่เหมาะกับตัวเอง อาจเป็นได้ทั้งการนั่งสมาธิหรือวาดรูป, หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดไมเกรน, อย่าใช้สายตาติดต่อกันนาน 1 ชั่วโมง
4. ตาพร่า
ตาพร่า หรือ อาการตาล้า นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ โรคออฟฟิศซินโดรม สาเหตุเกิดจากการใช้สายตาที่มากจนเกินไป เช่น การเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนแบบไม่ได้หยุดพักทั้งตอนทำงาน และแม้แต่ก่อนนอน
วิธีรักษา : ใช้ผ้าบิดหมาดนำมาแช่น้ำเย็นและประคบตา 2 ข้าง, ถ้าตาแห้งให้ทำการกะพริบตาบ่อย ๆ หรือใช้น้ำตาเทียม
วิธีป้องกัน : หาเวลาหยุดพักจากหน้าจอทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง แล้วมองออกไปวิวไกล ๆ มากที่สุด, หลับตาพักผ่อนไปเลยประมาณ 5 – 10 นาที, ถ้าตาแห้งให้ทำการกะพริบตาบ่อย ๆ หรือใช้น้ำตาเทียม
5. ปวดสะโพก
สำหรับคนที่ปวดสะโพกสามารถเป็นได้จากการนั่งไม่เต็มก้น หรือการนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ จนทำให้สะโพกข้างนึงกดทับเส้นประสาท หรือที่เรียกว่าสลักเพชรจมได้ พอนั่งไปอ่าน ๆ เดินไปนาน ๆ ทีนี้จะลามลงขาถือว่าเป็นอาการเรื้อรังที่ไม่ควรให้มาถึงจุดนี้
วิธีรักษา : กินยาลดการอักเสบ, ประคบร้อนเป็นเวลา 15 นาที, เมื่อเกิดอาการให้หาทีนั่งแล้วเอาขาไขว่เป็นเลข 4 แล้วโค้งตัวนับ 1 – 10 ครั้ง ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทุเลา
วิธีป้องกัน : ปรับการนั่งให้ถูกต้องนั่นก็คือ เข่าต้องระนาบกับเก้าอี้แบบพอดี ไม่นั่งไขว่ห้างให้น้ำหนักกดทับฝั่งใดฝั่งหนึ่ง นั่งให้เต็มก้น และหันมายืนบ้างนั่งทำงานบ้าง
6. นิ้วมือล็อค
อีกหนึ่งโรคยอดฮิตของหนุ่มสาวชาวออฟฟิศที่มักเจอในกลุ่มคนที่นั่งหน้าคอมฯ ทั้งวัน โรคนิ้วมือล็อคสามารถเกิดได้จากการจับเมาส์เป็นเวลานาน พิมพ์คีย์บอร์ด หรืออาจเป็นการจับโทรศัพท์ตลอดเวลาก็เป็นได้ ใครมีอาการหรือสุ่มเสี่ยง รีบป้องกัน เพราะโรคนี้ถึงขั้นต้องรักษาโดยการผ่าตัดเลยก้มีในบางเคส ซึ่งให้สังเกตโดยอาการจะปวดบริเวณโคนนิ้ว ไม่สามารถยืดนิ้วได้อย่างเต็มที่ และมีอาการล็อคนิ้วเลย
วิธีรักษา : ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม, หยุดใช้งาน, ดามนิ้วที่ล็อคไว้, ทายาลดการอักเสบ
วิธีป้องกัน : ให้หาเวลาว่างกางนิ้วมือทั้ง 5 ออกมาและทำการสลับนิ้วเหมือนเวลาเล่นเปียโน ไล่จากนิ้วโป้งไปนิ้วก้อย หรือนิ้วก้อยไปนิ้วโป้ง
หันมาใส่ใจสุขภาพวันนี้ดีกว่าไปรักษาวันหน้า
สำหรับ โรคออฟฟิศซินโดรม ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเลยสำหรับคนวัยทำงาน โดยเฉพาะคนที่นั่งอยู่ในออฟฟิศทำงานกับหน้าคอมพิวเตอร์จนไม่ได้มีเวลาพักผ่อน หรือไม่มีเวลายืดเส้นยืดสายตามที่ควรจะเป็น แน่นอนว่าใครหลายคนมักจะฝืนเมื่อเกิดอาการปวดเมื่อย เพราะมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และมักจะแย่ลงเมื่อมารู้ว่าเป็นโรคแบบเรื้อรังกันแล้ว อย่างไรก็ตามหากคุณมีอาการปวดเมื่อยตามจุดต่าง ๆ ขอแค่เพียงหันมาใส่ใจสักนิด แล้วให้เวลาดูแลสักหน่อยก็จะสามารถป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรมได้
Credit Cover Image : Image by Freepik