มีเป้าหมาย มีจุดมุ่งหมายในชีวิต มีความฝัน แต่ยังผลัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อย ๆ ใครตั้ง เป้าหมาย ไว้เมื่อปีก่อน จนเวลาผ่านมาถึงท้ายปี และขึ้นปีใหม่แล้วก็ตาม แต่ยังไม่สำเร็จซักอย่าง ลองนำแนวคิดของเทคนิคการปลดปล่อยพลังเพื่อพิชิตเป้าหมายนี้ไปใช้ดู
เมื่อเรารู้จุดมุ่งหมายในชีวิต กำหนดวิสัยทัศน์ และทำสิ่งที่เราต้องการและปรารถนาอย่างแท้จริงให้กระจ่างชัดขึ้นมาแล้ว จากนั้นเราต้องแปลงมันให้อยู่ในรูปของเป้าหมายและจุดประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงและวัดผลได้ แล้วปฏิบัติไปตามนั้นด้วยความแน่ใจว่าเราจะสามารถทำมันให้สำเร็จได้ สมองเป็นกลไกหนึ่งของการเสาะหาเป้าหมาย ไม่ว่าเราจะกำหนดเป้าหมายใดให้กับจิตใต้สำนึก สมองจะทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อทำเป้าหมายนั้นให้เป็นจริง
เท่าไหร่และเมื่อไหร่
เพื่อให้มั่นใจว่าเป้าหมายจะปลดปล่อยพลังของจิตใต้สำนึกออกมา มีเกณฑ์สองข้อด้วยกัน นั่นคือ เราจะต้องกำหนดเป้าหมายในแบบที่เราและคนอื่น ๆ สามารถวัดผลได้ เช่น การกำหนดเป้าหมายว่า ฉันจะลดน้ำหนักลง 5 กิโลกรัม แต่เดี๋ยวนะ อันนี้มันยังธรรมดาไป ! จะดีกว่าไหม ถ้า…ฉันจะลดน้ำหนักลง 5 กิโลกรัม ให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ !!! ดังนั้นเกณฑ์สองข้อที่กล่าวไปข้างต้นนั้น หมายถึง “เท่าไหร่” และ “เมื่อไหร่” นั่นเอง
Tip: ระบุเป้าหมายทุกด้านให้เฉพาะเจาะจงมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น รุ่น สี ปีที่ผลิด ขนาด น้ำหนัก หรืออื่น ๆ จำไว้ว่า หากเป้าหมายคลุมเครือ ผลลัพธ์ก็จะคลุมเครือเช่นกัน
เป้าหมาย เป็นมากกว่าแค่ ความต้องการ
มีเหมือนกันที่ในบางครั้งเป้าหมายของเรา ไม่มีเกณฑ์วัดผล ซึ่งมันก็จะเป็นเพียงบางสิ่งที่เราปรารถนา หรือความต้องการ เช่น ฉันอยากเป็นเจ้าของบ้านที่มีสวนสวย ๆ หรือ ฉันอยากเป็นเพื่อนที่ดีกับเขาคนนั้น …อะไรแบบนี้ ดังนั้น เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับจิตใต้สำนึกของเราได้ จำเป็นต้องมีเทคนิควิธีคิดเพื่อให้สามารถเกิดการวัดผลให้ได้ ตัวอย่างต่อไปนี้ จะแสดงให้เห็นภาพของการเปลี่ยนความต้องการเป็นเป้าหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ความต้องการ | เป้าหมาย |
ฉันอยากเป็นเจ้าของบ้านที่มีสวนสวย ๆ | ฉันจะเป็นเจ้าของบ้าน 2 ชั้น ติดริมน้ำ ของโครงการ The Riverfront ภายในเดือนมีนาคมปีหน้า |
ฉันอยากหุ่นดี กลับไปผอมเหมือนตอนเพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ | ฉันจะลดน้ำหนักเหลือ 45 กิโลกรัม ภายในสองเดือน ก่อนไปงานแต่งงานของเพื่อน |
ฉันอยากเป็นเพื่อนที่ดีกับเพื่อนพนักงานที่ช่วยทำงานแทนในวันที่ฉันลาพักร้อน | วันจันทร์นี้ ฉันจะพูดขอบคุณ และซื้อไอซ์อเมริกาโน่ให้เพื่อนพนักงานหนึ่งแก้ว |
เขียนมันออกมา และทบทวน
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดนับตั้งแต่หลายสิบปีก่อนจนมาถึงยุคที่เป็นดิจิตัล บล็อคเชนในปัจจุบันแล้วก็ตาม การทำให้เป้าหมายกระจ่างชัดและเฉพาะเจาะจง หนีไม่พ้น การเขียน ราวกับว่ากำลังขอพรอยู่ เขียนรายละเอียดทุกอย่างที่เป็นไปได้ลงกระดาษ post-it แปะไว้ในที่ ๆ มองเห็นได้ง่าย เขียนใส่กระดาษแผ่นใหญ่ติดไว้ที่ประตูทางออกบ้าน จดลงไปในปฏิทิน ตั้งเป็นวอลเปเปอร์บนมือถือ หรือคอมพิวเตอร์
ถ้ามีแบบบ้านในความต้องการที่เราอยากเป็นเจ้าของ หลับตาแล้วนึกถึงมันซะ เขียนลักษณะเฉพาะเจาะจงลงไปจนถึงรายละเอียดที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ทำเลที่ตั้ง ภูมิทัศน์ เฟอร์นิเจอร์ ทีวี เครื่องเสียง แผนผังในบ้าน จากนั้นกำหนดวันที่คาดหวังว่าจะได้เป็นเจ้าของมัน
หมั่นทบทวนเป้าหมายที่เขียนออกมาวันละสองหรือสามครั้งต่อวันจนเป็นกิจวัตร การทำสิ่งเหล่านี้เป็นประจำทุกวันจะช่วยกระตุ้นพลังแห่งความปรารถนาในตัวคุณที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “ความตึงเครียดเชิงโครงสร้าง (structural tension)” สมองของเราจะสั่งการเพื่ออุดช่องโหว่ระหว่างสภาพความเป็นจริงกับภาพที่เราคิดทบทวนจากเป้าหมาย และการทำซ้ำ ๆ ราวกับว่ามันสำเร็จแล้วเป็นการเพิ่มความตึงเครียดเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะไปเพิ่มแรงจูงใจ ปลุกเร้าความคิดสร้างสรรค์ และยกระดับความตระหนักรู้ถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้อย่างไม่รู้ตัว เชื่อเถอะว่า เมื่อเราเขียนทั้งหมดออกมาแล้ว จิตใต้สำนึกของเราจะรู้เองโดยอัตโนมัติ ว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง สมองจะพาเราไปสนใจเป้าหมายนั้นอยู่เสมอ ๆ ในทุกโอกาสเพื่อช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
ต้องดึงศักยภาพ แบบก้าวกระโดด
หากเราทำอาชีพนักขาย และรู้ว่าตัวเองจะได้ดูแลกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการซื้อมากขึ้น ได้รับค่าคอมมิชชั่นก้อนโต และจะได้เลื่อนตำแหน่งทันทีหากสามารถปิดการขายได้ เราจะมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั่นหรือไม่ ?
เป้ามายต้องยาก มันจะช่วยดึงศักยภาพในตัวเราออกมา เป้าหมายที่บีบให้เราต้องเติบโตขึ้นเพื่อบรรลุผลสำเร็จนั้นมีประโยชน์ และจะเปลี่ยนชีวิตเราไปอย่างสิ้นเชิง การมีเป้าหมายที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดบ้างถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากเราจะเป็นประสบความสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว เรายังได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ขยายมุมมองใหม่ ๆ สร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ เรียนรู้ที่จะเอาชนะความกลัว ความลังเล และอุปสรรค
อุปสรรคที่ต้องเจอแน่ ๆ อย่าเพิ่งท้อ และลงมือทำ !
สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำความเข้าใจทันที่ที่ตั้งเป้าหมายขึ้นมาก็คือ จะมีสามสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาหยุดยั้งคนส่วนใหญ่เอาไว้ คือ ความกังวล ความกลัว และสิ่งกีดขวาง
ลองคิดดู หากเป้าหมายคือ “ต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท้าในปีหน้า” ความคิดบางอย่างจะต้องผุดขึ้นมาทันที เช่น ต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า ต้องไม่มีเวลาให้ครอบครัว หรือเราตั้งเป้าหมายว่า “ต้องลงแข่งวิ่งมาราธอนระยะ 25 กิโลเมตร ในอีกสองเดือน” เราอาจะได้ยินเสียงแว่วมาว่า อาจบาดเจ็บ ต้องตื่นเช้ากว่าเดิม เราแก่เกินไปที่จะเริ่มวิ่งแล้วนะ ความคิดต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่า ความกังวล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลว่าทำไมเป้าหมายนั่นถึงเป็นไปไม่ได้
แต่การที่ความกังวลเหล่านี้ได้เผยตัวออกมาเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันเป็น “จิตสำนึก” ที่คอยสกัดกั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นเมื่อมันปรากฏตัวออกมา เราต้องจัดการกับมัน เผชิญหน้า และฟันฝ่าไปให้ได้ ในทางกลับกัน ความกลัว เป็น “ความรู้สึก” อย่างหนึ่ง กลัวที่จะถูกปฏิเสธ กลัวว่าจะผิดพลาด เสียเงิน บาดเจ็บ หรือกลัวที่จะทำให้เราขายหน้า ความกลัวเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเท่านั้น
สุดท้าย เราจะตระหนักถึง สิ่งกีดขวาง ต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสถานการณ์ภายนอก เป็นอุปสรรคที่โลกโยนใส่เรา และมันอยู่นอกเหนือความคิดและความรู้สึกในหัวของเรา เช่น กฎหมายบางอย่างห้ามให้เราไม่ไ่ด้ทำในสิ่งที่อยากทำ ฝนตกเมื่อเราพยายามจะออกไปวิ่ง สปอนเซอร์ของโครงการขอยกเลิกงานกระทันหันเนื่องจากประสบปัญหาภายใน สิ่งกีดขวางเหล่านี้จำเป็นต้องถูกจัดการเพื่อที่เราจะเคลื่อนไปข้างหน้า
เราต้องทำความเข้าใจว่าความกังวล ความกลัว และสิ่งกีดขวาง ไม่ใช่ไฟแดงที่หยุดไม่ให้เราไปต่อ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการตามธรรมชาติที่เราจะเจอในทุกเป้าหมายที่แตกต่างกันไปเสมอ เราแค่เรียนรู้ที่จะจัดการกับมัน และเมื่อสิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้นแล้ว นั่นหมายถึงเป้าหมายของเรามันใหญ่พอให้ดึงศักยภาพของเราออกมา และเป็นการพัฒนาตัวเองอย่างแท้จริง
Credit : เรียบเรียงจากบางส่วนของหนังสือ “The Success Principles” by Jack Canfield
Cover Image : Image by Waewkidja on Freepik