ธุรกิจเริ่มปัง จะ จดทะเบียนบริษัท แบบไหนดี ?
ทุกคน ทุกคนรู้มั๊ยว่าทุกวันนี้การเริ่มทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องยากเหมือนในอดีต เพราะเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าเริ่มต้นแล้วจะสำเร็จทุกรายหรอกนะ ดังนั้นก่อนเริ่มทำธุรกิจ หนึ่งในสิ่งสำคัญที่เราอยากให้ทุกคนลองถามตัวเอง คือ เราควรจดทะเบียนในรูปแบบของ ธุรกิจส่วนตัว ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทเต็มรูปแบบ ?
สำคัญยังไง ? ทำไมต้องรู้จักการ จดทะเบียนบริษัท แต่ละแบบ
นั่นเพราะความไม่เข้าใจในการจดทะเบียนบริษัทรูปแบบต่าง ๆ ของธุรกิจ ไม่รู้ข้อดีข้อเสีย บางคนเลยรีบร้อนตั้งเป็นรูปแบบบริษัทจำกัดขึ้นมา หรืออาจจะคิดว่ารูปแบบบริษัทดี น่าเชื่อถือกว่ารูปแบบอื่น ๆ ซึ่งก็จริงน่ะแหละ ถ้าจะ Go Big แล้วละก็ รูปแบบบริษัทนั้นค้าขายเจรจาคล่องกว่าแบบอื่น ๆ แต่…ทุกคนรู้ไหมว่า จริง ๆ แล้วการตั้งบริษัทจำกัดอาจจะไม่เป็นการตัดสินใจที่ฉลาดหรือเหมาะกับธุรกิจทุกรูปแบบเสมอไปหรอกนะ การใจร้อนรีบตั้งบริษัท เผลอ ๆ อาจจะเป็นตัวถ่วงให้กับธุรกิจของเราก็ได้ และอาจจะทำให้เราขาดทุนก็ได้ด้วยเหมือนกัน
เราจึงอยากให้ทุกคนพิจารณาให้ครบทุกรูปแบบเสียก่อน เพราะเมื่อลองพิจารณาแล้ว อาจจะพบว่ารูปแบบบริษัทดีสำหรับบริษัทหนึ่ง และอาจจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านธุรการและนิติกรเท่านั้นเมื่อเทียบกับอีกบริษัทหนึ่ง
เลือก จดทะเบียนบริษัท ให้เหมาะ ! ลองพิจารณาจากรูปแบบธุรกิจ
ธุรกิจส่วนตัว
รูปแบบนี้คีย์เวิร์ดสำคัญคือการเป็นเจ้าของธุรกิจ “เพียงคนเดียว” ทำให้เรามีเสรีภาพเต็มที่ในการกำหนดเป้าหมายของธุรกิจของเรา บริหารคนเดียว ตัดสินใจคนเดียว ทำการตลาดคนเดียว One-Man Show
ธุรกิจส่วนตัวเป็นรูปแบบที่ง่ายที่สุด จัดตั้งก็ง่าย บริหารก็ง่าย ระเบียบราชการไม่ยุ่งยาก ขอจดทะเบียนก็ไม่ยากเย็นอะไร ภาษีอากรก็เป็นประเภทภาษีรายได้ส่วนบุคคล ซึ่งจะเสียมากเสียน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับรายได้ของธุรกิจ และฐานะการเงินของเรา แต่แนะนำทุกคนว่า เนื่องจากเราดำเนินการเพียงคนเดียว ดังนั้นควรตรวจสอบเรื่องภาษีและปรึกษานักบัญชีดูก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจส่วนตัว
ส่วนข้อเสียที่เห็นได้ชัดเลยคือ หนี้สินของธุรกิจประเภทนี้ถือเป็นหนี้สินของตัวบุคคล/เจ้าของธุรกิจด้วย ซึ่งหมายความว่าถึงว่าหากธุรกิจขาดทุน-เป็นหนี้ เราผู้เป็นเจ้าของต้องเอาเงินส่วนตัวหรือทรัพย์สมบัติส่วนตัวมาใช้หนี้ของธุรกิจ หรือที่เรียกว่า “เข้าเนื้อ” นั่นเอง !
ห้างหุ้นส่วนสามัญ
รูปแบบห้างหุ้นส่วนสามัญต้องรวมเอาความคิดและประสบการณ์ของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาช่วยกัน การรวบรวมพลังและปัญญาของหลายคนเข้าด้วยกันจะสามารถทำให้ธุรกิจเข้มแข็งได้ คนนึงเก่งบริหาร คนนึงเก่งเทคนิค คนนึงเก่งการตลาด ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการทำธุรกิจส่วนตัวเพียงคนเดียว
แต่รูปแบบนี้ก็มีความคล้ายกับธุรกิจส่วนตัวอยู่บ้าง คือจัดตั้งง่าย จดทะเบียนง่าย และการเสียภาษี ก็เป็นภาษีส่วนบุคคลที่หุ้นส่วนแต่ละคนต้องเสียเอง การเข้าหุ้นกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีสัญญา แต่ขอแนะนำว่า ควรมีในสัญญาเรื่องของการชี้แจงหน้าที่ของหุ้นส่วนแต่ละคน ว่าใครรับผิดชอบส่วนไหน อย่างไร ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการฟ้องร้องกันในภายหลังได้ ข้อนี้ทุกคนต้องระวังให้ดี เพราะมีหลายคนเสียเพื่อน เสียคนที่เคยเคารพ จากการจดทะเบียนรูปแบบนี้มาเยอะ
ข้อเสียของรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามัญคือ ถ้าหุ้นส่วนคนนึงเสียชีวิตหรือมีหุ้นส่วนเพิ่มอีก ความเป็นหุ้นส่วนเดิมจะหมดสภาพไป ต้องมาทำสัญญาเพื่อชี้แจงหน้าที่ของหุ้นส่วนแต่ละคนกันใหม่ clarify กันอีกรอบ ยิ่งรายละเอียดเยอะ เงื่อนไขเดิมเยอะก็ยิ่งเสียเวลา และอีกข้อเสียที่สำคัญที่สุดคือ หนี้สินของหุ้นส่วนคนหนึ่งอันเกิดจากการดำเนินงานธุรกิจนั้น ๆ จะมีผลบังคับถึงหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย เพราะลงเรือลำเดียวกันแล้ว…
ห้างหุ้นส่วนจำกัด
การ จดทะเบียนบริษัท รูปแบบนี้ให้ข้อดีแก่หุ้นส่วนอยู่มาก เพราะผู้ที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนไม่จำเป็นต้องแบกรับหนี้สินร่วมกันเหมือนอย่างห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งเราสามารถชักชวนคนอื่น ๆ มาร่วมลงทุนในรูปแบบนี้ได้โดยไม่เสี่ยงจนเกินไป ห้างหุ้นส่วนจำกัดควรมีหุ้นส่วนหนึ่งคนที่ทำหน้าที่เป็นหุ้นส่วนหลักอยู่ด้วย
บริษัทจำกัด
- หุ้นของบริษัทอาจขายให้นักลงทุนได้ หรือขายให้คนทั่วไปก็ได้ และผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบหนี้สินที่เกินกว่าค่าหุ้นของตนเอง ซึ่งทุกคนคงทราบดีว่านี่เป็นผลดีในการระดมทุนต่าง ๆ
- บริษัทมีลักษณะเป็นนิติบุคคล สามารถดำเนินการธุรกิจต่อไปได้ หากมีใครสักคนในฝ่ายจัดการลาออกไปหรือเสียชีวิตก็ตาม
- หากบริษัทติดหนี้ เจ้าหนี้ส่วนมากมักจะเรียกร้องเฉพาะทรัพย์สินของบริษัทเท่านั้น ดังนั้นจะไม่กระทบกับทรัพย์สินส่วนบุคคลของผู้ถือหุ้น
ข้อเสียล่ะ มีอะไรบ้าง ? มาถึงตรงนี้ ทุกคนคงเริ่มมองเห็นแล้วว่า หากธุรกิจของเราไม่มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และมีปัญหาในการจำกัดภาระหนี้สิน การจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัดจึงไม่เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
- บริษัทจะต้องมีระเบียบและกฎหมายควบคุมมากกว่าธุรกิจแบบอื่น ๆ และการตั้งบริษัทจะต้องมีใบอนุญาตจากทางการ การขายหุ้นต้องได้รับการควบคุม และต้องมีทนายประจำบริษัท เพื่องานด้านนิติการต่าง ๆ
- การตั้งบริษัทดำเนินงานธุรกิจขนาดเล็ก เป็นการสิ้นเปลืองเงินโดยใช้เหตุ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แพงกว่ารูปแบบอื่นและเสียภาษีแพงกว่าด้วย
- สรรพากรเรียกเก็บภาษีบริษัทแตกต่างจากภาษีส่วนบุคคลที่เก็บจากห้างหุ้นส่วน หรือธุรกิจส่วนตัว และเป็นการเสียภาษีไปโดยไม่เกิดประโยชน์กับบริษัทเลย
ทุกคนที่กำลังเริ่มต้นทำธุรกิจ อยากให้ลองเอาข้อมูลนี้ไว้เป็นข้อคิด เราอยากให้ลองทำรายการข้อดี-ข้อเสียของแต่ละรูปแบบธุรกิจดู และพิจารณาแง่ต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอไป ว่ามันตอบโจทย์ และเหมาะสมกับธุรกิจของทุกคนหรือไม่
“เลือกให้เหมาะ เริ่มต้นเมื่อพร้อม”
Cover Image : Image by tirachardz on Freepik
คอร์สอบรมแนะนำ “การบริหารการจัดการ กลยุทธ์ธุรกิจ” จากฐานข้อมูลอบรมดอทคอม
คอร์สอบรมแนะนำ “จัดซื้อ การตลาด การขาย บริการ” จากฐานข้อมูลอบรมดอทคอม